พระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๖

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๖)

พระราชบัญญัติ
การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๖

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
เป็นปีที่ ๖๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๖”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑

               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
               “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบธุรกิจการรับขนของทางถนนเพื่อค่าระวางโดยทำสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศกับผู้ส่ง
               “ผู้ขนส่งช่วง” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ขนของตามสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ แม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่งและให้หมายความรวมถึงลูกจ้างตัวแทนของผู้ขนส่งช่วง และบุคคลอื่นซึ่งผู้ขนส่งช่วงได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการรับขนของนั้นด้วย ไม่ว่าจะมีการมอบหมายช่วงกันไปกี่ทอดก็ตาม
               “ผู้ส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งในสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ
               “ผู้รับตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีชื่อระบุไว้ในใบตราส่งให้เป็นผู้รับตราส่งหรือเป็นผู้มีสิทธิในการรับของจากผู้ขนส่ง
               “รถ” หมายความว่า รถยนต์ รถยนต์ที่เชื่อมติดกัน รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง
               “ของ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ สัตว์ รวมทั้งภาชนะขนส่งที่ผู้ส่งเป็นผู้จัดหามาเพื่อใช้ในการขนส่ง
               “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
               “ค่าระวาง” หมายความว่า บำเหน็จที่ต้องจ่ายเพื่อการรับขนของ
               “ค่าธรรมเนียมการรับขน” หมายความว่า ค่าระวาง และบรรดาค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการรับขนของ
               “ใบตราส่ง” หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศและเป็นหลักฐานในการรับมอบของ

               มาตรา ๔  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนของทางถนนด้วยรถจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของในราชอาณาจักรไปยังสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของนอกราชอาณาจักร หรือจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของนอกราชอาณาจักรมายังสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของในราชอาณาจักร หรือจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่งโดยผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร และให้ใช้บังคับแก่การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศด้วยรถที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เว้นแต่กรณีที่คู่สัญญาระบุให้ใช้กฎหมายของประเทศอื่นหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ให้บังคับเป็นไปตามนั้น
               พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การรับขนไปรษณียภัณฑ์ระหว่างประเทศ
               ในกรณีที่การรับขนของทางถนนด้วยรถมีการขนส่งทางอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ ทางน้ำ หรือทางอากาศ โดยไม่มีการขนถ่ายของลงจากรถ ให้ถือว่าเป็นการรับขนของทางถนนตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๕  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางอื่นตามมาตรา ๔ วรรคสาม หากผู้ขนส่งพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นมิได้เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาของผู้ขนส่ง แต่เกิดจากเหตุอื่นซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับการขนส่งทางอื่น ทั้งนี้ ให้ความรับผิดของผู้ขนส่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๑๑๙ ก/หน้า ๗/๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

หมวด ๑ สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ (มาตรา ๗ - ๑๓)

 

หมวด ๑
สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ

-------------------------

               มาตรา ๗  สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ คือ สัญญาที่ผู้ขนส่งตกลงที่จะดำเนินการหรือจัดให้มีการขนส่งของทางถนน จากสถานที่ในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ในอีกประเทศหนึ่งโดยผู้ส่งตกลงที่จะชำระค่าระวางให้แก่ผู้ขนส่ง

               มาตรา ๘  ข้อกำหนดใดในสัญญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยายเป็นการปลดเปลื้องหน้าที่หรือความรับผิดของผู้ขนส่ง ทำให้เสื่อมสิทธิแก่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกำหนดให้มีการทำการประกันภัยเพื่อประโยชน์ของผู้ขนส่ง ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ
               ความในมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิคู่สัญญาที่จะกำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๙  การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ผู้ขนส่งต้องออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง
               การที่ผู้ขนส่งมิได้ออกใบตราส่ง หรือใบตราส่งมีความบกพร่องหรือสูญหายย่อมไม่กระทบต่อความมีอยู่หรือความถูกต้องของสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ และให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๐  ใบตราส่งให้จัดทำเป็นต้นฉบับจำนวนสามฉบับ โดยฉบับที่หนึ่งให้มอบแก่ผู้ส่ง ฉบับที่สองให้ติดไปกับของ และฉบับที่สามให้เก็บไว้ที่ผู้ขนส่ง
               ผู้ส่งและผู้ขนส่ง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ส่งหรือผู้ขนส่ง ต้องลงลายมือชื่อในใบตราส่ง
               การลงลายมือชื่อตามวรรคสอง ให้หมายความรวมถึงการลงลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารทางโทรสาร การประทับตรา การใช้สัญลักษณ์ การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๑๑  กรณีที่มีการบรรทุกของไว้ในรถต่างคัน หรือเป็นของต่างชนิดกันหรือแบ่งของที่ขนส่งออกเป็นหลายส่วน ผู้ส่งมีสิทธิเรียกให้ผู้ขนส่งออกใบตราส่งสำหรับรถแต่ละคัน ของแต่ละชนิดหรือแต่ละส่วนแห่งของที่ขนส่งได้ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๒  ใบตราส่งต้องแสดงรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่ง
               (๒) ชื่อและที่อยู่ของผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งช่วง
               (๓) ชื่อและที่อยู่ของผู้รับตราส่ง
               (๔) สถานที่และวันที่ออกใบตราส่ง
               (๕) สถานที่และวันที่รับมอบของ
               (๖) สถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของ
               (๗) รายละเอียดทั่วไปเกี่ยวกับสภาพแห่งของ วิธีการในการบรรจุหีบห่อและรายละเอียดทั่วไปอันเป็นที่ยอมรับแห่งของ ในกรณีที่ของนั้นมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
               (๘) จำนวนหีบห่อ เครื่องหมายพิเศษ และหมายเลขของหีบห่อ
               (๙) น้ำหนักรวม หรือปริมาณแห่งของที่ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
               (๑๐) ค่าธรรมเนียมการรับขน
               (๑๑) มูลค่าแห่งของ เพื่อประโยชน์ทางด้านศุลกากร
               (๑๒) คำสั่งที่จำเป็นสำหรับพิธีการทางศุลกากรและพิธีการอื่น
               (๑๓) ข้อความที่กำหนดให้การรับขนของอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

               มาตรา ๑๓  ใบตราส่งอาจแสดงรายการดังต่อไปนี้ด้วยก็ได้
               (๑) ข้อความที่กำหนดไม่ให้มีการเปลี่ยนถ่ายรถ
               (๒) ค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งตกลงชำระนอกจากค่าธรรมเนียมการรับขนตามมาตรา ๑๒ (๑๐)
               (๓) จำนวนเงินที่ต้องชำระเมื่อมีการส่งมอบของ
               (๔) การแสดงราคาของ และจำนวนเงินที่แสดงถึงส่วนได้เสียพิเศษในการส่งมอบ
               (๕) คำสั่งเกี่ยวกับการประกันภัยที่ผู้ส่งให้ไว้แก่ผู้ขนส่ง
               (๖) กำหนดระยะเวลาดำเนินการขนส่งให้แล้วเสร็จ
               (๗) รายการของเอกสารที่ได้มอบให้แก่ผู้ขนส่ง
               คู่สัญญาอาจแสดงรายการอื่นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ไว้ในใบตราส่งก็ได้

หมวด ๒ หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง (มาตรา ๑๔ - ๑๙)

 

หมวด ๒
หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๔  ในการรับมอบของจากผู้ส่ง ผู้ขนส่งต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการในใบตราส่ง ปริมาณ จำนวนและน้ำหนัก สภาพภายนอกแห่งของและหีบห่อที่บรรจุของนั้น
               ในกรณีที่ผู้ขนส่งพบว่าของที่รับมอบแตกต่างจากรายการที่ระบุไว้ ให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อแตกต่างไว้ในใบตราส่ง หากมิได้มีการบันทึกข้อแตกต่างไว้ ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้รับมอบของครบถ้วนและของนั้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์
               ถ้าผู้ขนส่งไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรายการตามวรรคหนึ่งได้ ผู้ขนส่งต้องบันทึกข้อสงวนและเหตุที่ไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องไว้ในใบตราส่งด้วย หากมิได้มีการบันทึกข้อสงวนไว้ ให้สันนิษฐานว่าของและหีบห่อนั้นอยู่ในสภาพดี จำนวนหีบห่อ เครื่องหมายพิเศษ และหมายเลขของหีบห่อถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง

               มาตรา ๑๕  ก่อนที่ของจะไปถึงสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบ หากการรับขนของตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัย หรือโดยพฤติการณ์การรับขนของยังสามารถดำเนินการต่อไปได้แต่ต้องดำเนินการแตกต่างไปจากสัญญา ให้ผู้ขนส่งแจ้งและถามเอาคำสั่งจากผู้มีสิทธิในการจัดการของนั้นตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ แล้วแต่กรณี
               ถ้าผู้ขนส่งไม่สามารถแจ้งและถามเอาคำสั่งจากผู้มีสิทธิในการจัดการของ หรือได้ถามเอาคำสั่งแล้วแต่มิได้รับคำสั่งจากบุคคลดังกล่าวภายในเวลาอันควร ให้ผู้ขนส่งดำเนินการได้เท่าที่จำเป็นและเกิดประโยชน์แก่ผู้มีสิทธิในการจัดการของนั้น

               มาตรา ๑๖  เมื่อของไปถึงสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบ หากมีเหตุที่ทำให้ผู้ขนส่งไม่สามารถส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่งได้ หรือผู้รับตราส่งปฏิเสธไม่ยอมรับมอบของ ให้ผู้ขนส่งแจ้งและถามเอาคำสั่งจากผู้ส่ง ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๑๕ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในระหว่างที่ผู้ขนส่งยังมิได้รับคำสั่งจากผู้ส่งตามวรรคหนึ่ง ผู้รับตราส่งอาจเรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้นแก่ตนได้ แม้ผู้รับตราส่งจะได้ปฏิเสธไม่ยอมรับมอบของมาก่อนแล้วก็ตาม
               หากเหตุที่ทำให้ผู้ขนส่งไม่สามารถส่งมอบของได้นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่สิทธิในการจัดการของของผู้ส่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๖ (๑) ผู้รับตราส่งมีสิทธิสั่งให้ผู้ขนส่งส่งมอบของแก่บุคคลอื่น และให้ถือว่าผู้รับตราส่งเป็นผู้ส่งและบุคคลอื่นนั้นเป็นผู้รับตราส่ง ทั้งนี้ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๗  ในกรณีที่ผู้ขนส่งไม่สามารถแจ้งและถามเอาคำสั่งจากผู้มีสิทธิในการจัดการของหรือได้ถามเอาคำสั่งแล้วแต่มิได้รับคำสั่งจากบุคคลดังกล่าว และถ้าของที่รับขนนั้นเป็นของสดเสียได้หากการหน่วงช้าไว้จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ของ หรือถ้าราคาของนั้นไม่คุ้มค่าธรรมเนียมการรับขน ผู้ขนส่งอาจนำของนั้นออกขายทอดตลาดได้
               เมื่อเอาของออกขายทอดตลาดแล้ว ให้ผู้ขนส่งหักเงินไว้เป็นค่าธรรมเนียมการรับขน หากมีเงินคงเหลือให้ส่งมอบให้แก่ผู้มีสิทธิในการจัดการของนั้นโดยเร็ว
               ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้ผู้มีสิทธิในการจัดการของทราบโดยมิชักช้า

               มาตรา ๑๘  ผู้ขนส่งมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายตามสมควรอันเกิดจากการแจ้งและถามเอาคำสั่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ และการปฏิบัติตามคำสั่งจากผู้มีสิทธิในการจัดการของ

               มาตรา ๑๙  ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงของไว้ก่อนได้จนกว่าจะได้รับชำระค่าธรรมเนียมการรับขน หรือจนกว่าจะได้รับประกันตามสมควร

หมวด ๓ หน้าที่ สิทธิ และความรับผิดของผู้ส่งและผู้รับตราส่ง (มาตรา ๒๐ - ๒๗)

 

หมวด ๓
หน้าที่ สิทธิ และความรับผิดของผู้ส่งและผู้รับตราส่ง

-------------------------

               มาตรา ๒๐  ผู้ส่งต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความสูญหายหรือเสียหายอันเกิดจากความไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน หรือไม่เพียงพอของรายละเอียดในใบตราส่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) รายละเอียดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๒ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๒)
               (๒) รายละเอียดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๓
               (๓) รายละเอียดหรือคำสั่งอื่นที่ผู้ส่งให้ไว้เพื่อการออกใบตราส่ง หรือเพื่อจดแจ้งไว้ในใบตราส่ง
               ถ้าผู้ขนส่งได้จดแจ้งรายละเอียดในใบตราส่งตามที่ผู้ส่งร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้กระทำการดังกล่าวในนามของผู้ส่ง เว้นแต่ผู้ส่งจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ขนส่งจดแจ้งรายละเอียดไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอตามที่ผู้ส่งร้องขอ

               มาตรา ๒๑  ผู้ส่งต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหายอันเกิดจากความบกพร่องในการบรรจุหีบห่อไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการบรรจุหีบห่อ เว้นแต่ความบกพร่องนั้นจะเห็นประจักษ์ หรือในกรณีที่ความบกพร่องนั้นไม่เห็นประจักษ์แต่ผู้ขนส่งได้รู้ถึงความบกพร่องนั้นในขณะที่รับมอบของ และมิได้บันทึกข้อสงวนตามมาตรา ๑๔ ไว้

               มาตรา ๒๒  เพื่อประโยชน์แก่พิธีการทางศุลกากรหรือพิธีการอื่น ซึ่งต้องดำเนินการก่อนส่งมอบของ ผู้ส่งต้องแนบเอกสารที่จำเป็นไปกับใบตราส่ง รวมทั้งจัดเอกสารและข้อมูลที่ผู้ขนส่งต้องการให้แก่ผู้ขนส่ง หรือดำเนินการให้ผู้ขนส่งเข้าถึงข้อมูลนั้นได้
               ผู้ส่งต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหายที่เกิดจากความไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอของเอกสารและข้อมูลตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ขนส่ง

               มาตรา ๒๓  ก่อนที่จะมอบของที่มีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ขนส่ง ผู้ส่งต้องแจ้งสภาพอันตรายแห่งของและข้อควรระวังให้ผู้ขนส่งทราบ เว้นแต่ผู้ขนส่งได้ทราบถึงสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแห่งของนั้นแล้วในขณะที่รับมอบของ
               ถ้าผู้ส่งไม่แจ้งสภาพอันตรายแห่งของและข้อควรระวังให้ผู้ขนส่งทราบ ผู้ส่งต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากกาขนถ่ายของนั้นลงจากรถ ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ตามความจำเป็นแห่งกรณี

               มาตรา ๒๔  ในระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง แม้ผู้ส่งได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ และผู้ขนส่งได้ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้นก็ตาม แต่ถ้าปรากฏในภายหลังว่าของนั้นจะเกิดเป็นอันตรายหรือเสียหายต่อบุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นอย่างแน่ชัด ผู้ขนส่งมีสิทธิขนถ่ายของนั้นลงจากรถ ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ตามความจำเป็นแห่งกรณีได้ โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ส่ง
               ในกรณีที่ผู้ขนส่งไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของและข้อควรระวังนอกจากผู้ขนส่งมีสิทธิดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ส่งด้วย

               มาตรา ๒๕  ในระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง ผู้ส่งมีสิทธิสั่งให้ผู้ขนส่งเปลี่ยนแปลงการขนส่ง โดยหยุดการขนส่ง ส่งของกลับคืนสถานที่รับมอบของ เปลี่ยนสถานที่ส่งมอบของ หรือส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่งอื่นที่มิใช่ผู้รับตราส่งซึ่งระบุไว้ในใบตราส่ง
               ในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่สามารถดำเนินการได้ ผู้ขนส่งต้องแจ้งผู้ส่งทราบโดยทันทีเพื่อทำความตกลงใหม่ หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ส่งของกลับคืนสถานที่รับมอบของ
               เมื่อผู้ขนส่งได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ผู้ขนส่งชอบที่จะได้รับค่าธรรมเนียรับขนตามส่วนที่ได้ดำเนินการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นเพราะเหตุหยุดการขนส่ง ส่งของกลับคืนสถานที่รับมอบของ เปลี่ยนสถานที่ส่งมอบของ หรือส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่งอื่นที่มิใช่ผู้รับตราส่งซึ่งระบุไว้ในใบตราส่ง
               ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ส่งได้กำหนดไว้ในใบตราส่ง ให้ผู้รับตราส่งเป็นผู้มีสิทธิในการจัดการของนับแต่เวลาที่ได้มีการออกใบตราส่ง

               มาตรา ๒๖  สิทธิของผู้ส่งในการจัดการของตามมาตรา ๒๕ ย่อมสิ้นสุดลง เมื่อ
               (๑) ของไปถึงสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบ และผู้รับตราส่งได้เรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น หรือเรียกให้ผู้ขนส่งมอบใบตราส่งฉบับที่สองและได้รับมอบใบตราส่งนั้นแล้ว หรือ
               (๒) มีการส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่ง
               เมื่อสิทธิของผู้ส่งสิ้นสุดลงแล้ว ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติตามคำสั่งของผู้รับตราส่ง

               มาตรา ๒๗  เมื่อผู้รับตราส่งได้รับมอบของ หากเห็นประจักษ์ว่าของนั้นได้สูญหายบางส่วนหรือเสียหาย ผู้รับตราส่งต้องโต้แย้งเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่งถึงการสูญหายหรือสภาพแห่งของที่เสียหายในขณะที่รับมอบของ หากการสูญหายบางส่วนหรือเสียหายนั้นไม่เห็นประจักษ์ ผู้รับตราส่งต้องโต้แย้งเป็นหนังสือต่อผู้ขนส่งภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับมอบของ
               ในกรณีที่ผู้รับตราส่งมิได้โต้แย้งเป็นหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของถูกต้องตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง

หมวด ๔ ความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง (มาตรา ๒๘ - ๓๓)

 

หมวด ๔
ความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๒๘  ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง แล้วแต่กรณี ในการที่ของสูญหายเสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ซึ่งได้เกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับมอบของจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบของนั้น
               การส่งมอบชักช้า คือ
               (๑) ผู้ขนส่งไม่สามารถส่งมอบของได้ภายในเวลาที่กำหนด
               (๒) ผู้ขนส่งไม่สามารถส่งมอบของได้ภายในเวลาอันควร ในกรณีที่มิได้กำหนดเวลาส่งมอบไว้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย

               มาตรา ๒๙  ในกรณีที่ได้ล่วงพ้นกำหนดเวลาส่งมอบของหรือกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบของ แล้วแต่กรณี ให้ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) รับของ
               (๒) รับของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการส่งมอบชักช้า หรือ
               (๓) ไม่รับของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการส่งมอบชักช้า
               ในกรณีที่กำหนดเวลาส่งมอบของได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาส่งมอบของ หรือกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบของได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าหก
สิบวันนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของนั้น ให้ถือว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเสมือนว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง เว้นแต่จะปรากฏหลักฐานแสดงให้เห็นว่าของนั้นยังมิได้สูญหาย
               ถ้าผู้ขนส่งได้ของนั้นมาภายหลังเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคสอง ให้ผู้ขนส่งแจ้งให้ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งทราบ หากผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งประสงค์จะรับของนั้น ให้ผู้ขนส่งส่งมอบของให้ หากผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งได้รับค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ให้บุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี คืนค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ขนส่ง ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความสูญหายบางส่วนความเสียหาย หรือการส่งมอบชักช้า
               หากผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งไม่ใช้สิทธิของตนตามวรรคสามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการได้ของนั้นมา ให้ผู้ขนส่งมีสิทธิจัดการของตามกฎหมายที่บังคับใช้ ณ สถานที่ที่ของนั้นอยู่

               มาตรา ๓๐  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาของลูกจ้างและตัวแทนของตน รวมทั้งผู้ขนส่งช่วง

               มาตรา ๓๑  ผู้ขนส่งจะอ้างเหตุสภาพบกพร่องของรถที่ใช้ในการรับขนเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดมิได้

               มาตรา ๓๒  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในการที่ของสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หากพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากเหตุ ดังต่อไปนี้
               (๑) เหตุสุดวิสัย
               (๒) สภาพแห่งของนั้นเอง
               (๓) การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง หรือ
               (๔) การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง แล้วแต่กรณี เว้นแต่เป็นผลจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง หรือบุคคลที่ผู้ขนส่งต้องร่วมรับผิดตามมาตรา ๓๐

               มาตรา ๓๓  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในการที่ของสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หากพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้น เกิดขึ้นหรือเป็นผลจากสภาพความเสี่ยงภัยพิเศษ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้ส่งได้มอบของโดยไม่บรรจุหีบห่อ หรือสภาพหีบห่อบกพร่องหรือไม่เหมาะสมอันทำให้ของนั้นเสื่อมสภาพหรือเสียหาย
               (๒) ผู้ส่งได้มอบของโดยไม่ทำเครื่องหมาย หรือไม่ระบุจำนวนหีบห่อให้ชัดเจนหรือให้ครบถ้วน
               (๓) การใช้รถที่ไม่มีวัสดุคลุมสินค้า ซึ่งได้ตกลงและได้จดแจ้งในใบตราส่ง เว้นแต่ปรากฏว่าของนั้นมีปริมาณลดลงอย่างผิดปกติหรือของที่เป็นหีบห่อสูญหาย
               (๔) การยกขน การบรรทุก การจัดเรียง หรือการขนถ่ายของซึ่งได้กระทำโดยผู้ส่ง ผู้รับตราส่งหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว
               (๕) การขนส่งของที่ง่ายต่อความสูญหาย หรือเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแตกหัก เป็นสนิม เน่าเปื่อย แห้ง รั่ว หรือการกระทำของแมลงหรือสัตว์อื่น ทั้งนี้ ถ้าการขนส่งนั้นได้ใช้รถที่มีอุปกรณ์พิเศษเพื่อควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นของอากาศ ผู้ขนส่งต้องพิสูจน์ด้วยว่าตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่พึงกระทำในการใช้และบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้น รวมทั้งตามคำสั่งพิเศษที่ตนได้รับมาครบถ้วนแล้ว หรือ
               (๖) การรับขนปศุสัตว์ โดยผู้ขนส่งต้องพิสูจน์ด้วยว่าตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่พึงกระทำ รวมทั้งตามคำสั่งพิเศษที่ตนได้รับมาครบถ้วนแล้ว

หมวด ๕ การคิดค่าสินไหมทดแทนและข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง (มาตรา ๓๔ - ๓๗)

 

หมวด ๕
การคิดค่าสินไหมทดแทนและข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๓๔  ในกรณีของที่รับขนสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ให้ผู้ขนส่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง
               การคำนวณค่าสินไหมทดแทนในกรณีของที่รับขนสูญหายหรือเสียหาย ให้คำนวณจากราคาตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า หากไม่มีราคาดังกล่าว ให้คำนวณตามราคาตลาดในขณะนั้น แต่ถ้าไม่มีทั้งราคาตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าและราคาตลาด ให้คำนวณตามราคาปกติแห่งของนั้น ณ สถานที่และเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของ
               ในกรณีที่ของสูญหายสิ้นเชิง ผู้ขนส่งต้องชดใช้ค่าธรรมเนียมการรับขน และค่าภาษีอากรเต็มตามจำนวนเพิ่มด้วย แต่หากของนั้นได้สูญหายบางส่วน ให้ผู้ขนส่งชดใช้ตามส่วนแห่งของที่สูญหาย

               มาตรา ๓๕  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ การแปลงหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินให้เป็นสกุลเงินบาท ให้คำนวณ ณ เวลาอันเป็นฐานของการคำนวณค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๓๔ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

               มาตรา ๓๖  ในกรณีของที่รับขนสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินกิโลกรัมละแปดจุดสามสามหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหายหรือเสียหายนั้น
               ในกรณีที่มีการส่งมอบชักช้า ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินค่าธรรมเนียมการรับขน

               มาตรา ๓๗  บทบัญญัติในมาตรา ๓๖ มิให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
               (๑) เมื่อผู้ส่งได้แจ้งราคาของไว้ก่อนที่ผู้ขนส่งรับมอบของ พร้อมทั้งได้ชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตามจำนวนที่ตกลงกับผู้ขนส่ง โดยได้แสดงราคาของไว้ในใบตราส่งแล้ว ให้ผู้ขนส่งรับผิดเท่าราคาที่แสดงไว้ในใบตราส่ง หรือตามส่วนที่สูญหายหรือเสียหาย แล้วแต่กรณี
               (๒) เมื่อผู้ส่งแจ้งจำนวนเงินส่วนได้เสียพิเศษอันเนื่องจากของนั้นอาจสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ก่อนที่ผู้ขนส่งรับมอบของ พร้อมทั้งได้ชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตามจำนวนที่ตกลงกับผู้ขนส่ง โดยได้แสดงจำนวนเงินส่วนได้เสียพิเศษไว้ในใบตราส่งแล้ว ให้ผู้ขนส่งรับผิดเพื่อความเสียหายอื่นซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้ ไม่เกินจำนวนเงินส่วนได้เสียพิเศษที่แสดงไว้ในใบตราส่ง
               (๓) เมื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่ง ลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้ขนส่ง หรือผู้ขนส่งช่วงกระทำการโดยเจตนาให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หรือละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ ให้ผู้ขนส่งรับผิดต่อผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตามความเสียหายที่แท้จริง

หมวด ๖ การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท (มาตรา ๓๘ - ๔๓)

 

หมวด ๖
การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท

-------------------------

               มาตรา ๓๘  การใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัตินี้ ให้หมายรวมถึงการใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ขนส่งช่วงด้วยไม่ว่าสิทธิเรียกร้องนั้นมาจากมูลสัญญาหรือมูลละเมิด
               ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ขนส่งช่วงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้ขนส่งตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ขึ้นต่อสู้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องได้ด้วย

               มาตรา ๓๙  ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้
               โจทก์อาจฟ้องคดีอันเกิดจากการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะมีมูลจากสัญญาหรือมูลละเมิด โดยยื่นต่อศาลในประเทศที่มีความตกลงกับประเทศไทยเกี่ยวกับการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นได้ ดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลในประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดปลายทางของการรับขนของ
               (๒) ศาลในประเทศที่ของสูญหายหรือเกิดความเสียหายขึ้น
               (๓) ศาลในประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ขนส่ง
               (๔) ศาลในประเทศที่โจทก์มีภูมิลำเนา

               มาตรา ๔๐  ในกรณีที่คู่สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศได้ฟ้องคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องตามมูลสัญญาและมูลละเมิด หรือเฉพาะมูลละเมิด ต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว หากบุคคลภายนอกซึ่งได้รับความเสียหายจากการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศในมูลละเมิดเดียวกัน ได้ฟ้องคู่สัญญาต่อศาลอื่นที่มีเขตอำนาจ และศาลนั้นเห็นสมควรให้พิจารณาคดีรวมกัน หรือบุคคลภายนอกร้องขอไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนที่ศาลมีคำพิพากษา และถ้าศาลเห็นว่าคดีเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องกันก็ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โอนคดีดังกล่าวไปรวมพิจารณากับคดีระหว่างคู่สัญญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ได้ แต่ศาลจะมีคำสั่งก่อนที่จะได้รับความยินยอมจากศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้มิได้

               มาตรา ๔๑  คู่สัญญาอาจตกลงเป็นหนังสือให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

               มาตรา ๔๒  บรรดาสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะมีมูลจากสัญญาหรือมูลละเมิด ให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปี
               การนับอายุความกรณีของสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ให้เริ่มนับดังต่อไปนี้
               (๑) กรณีของสูญหายบางส่วน เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่ง
               (๒) กรณีของสูญหายสิ้นเชิง ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาส่งมอบของ หรือหากไม่มีกำหนดวันส่งมอบของ ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของจากผู้ส่ง
               การนับอายุความในกรณีอื่นนอกจากความในวรรคสอง ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๔๓  สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๔๒ อันเกิดจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ขนส่ง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ขนส่งช่วง ให้มีกำหนดอายุความสามปีนับตั้งแต่วันครบกำหนดเวลาส่งมอบของ หรือหากไม่มีกำหนดวันส่งมอบของ ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของจากผู้ส่ง

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๔๔)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๔๔  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
        ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๖

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับแก่สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่ง ผู้รับตราส่ง และบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ในขณะที่การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้ขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง สมควรให้มีกฎหมายกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดในเรื่องการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการรับขนของทางถนนของประเทศไทยสามารถแข่งขันในการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้