พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๘)

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พ.ศ. ๒๕๖๐

-------------------------

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

               พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อกำหนดวิธีพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คำพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิก
               (๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒
               (๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๕๐
               (๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงไว้เป็นอย่างอื่น
               “ศาล” หมายความว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               “กรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า ประธานหรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               “คณะผู้ไต่สวนอิสระ” หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งประธานศาลฎีกาแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ไต่สวนหาข้อเท็จจริงและทำความเห็นในกรณีที่มีการกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๕  นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นนอกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษา

               มาตรา ๖  การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวนโดยให้ศาลค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ แม้ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลได้ให้โอกาสแก่คู่ความในการโต้แย้งคัดค้านพยานหลักฐานนั้นแล้ว เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น ทั้งนี้ ตามแนวทางและวิธีการตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
               การพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ทั้งนี้ โดยนำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือของคณะผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
               ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้ศาลอื่น พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้
               ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมายในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาลที่มิใช่การพิจารณาหรือพิพากษาคดีได้

               มาตรา ๗  ศาลมีอำนาจออกหมายอาญาและหมายใด ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติ

               มาตรา ๘  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และมีอำนาจออกข้อกำหนดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และข้อกำหนดอื่นเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อใช้แก่การปฏิบัติงานของศาลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
               นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๙๙ ก/หน้า ๑/๒๘ กันยายน ๒๕๖๐

หมวด ๑ บททั่วไป (มาตรา ๙ - ๒๒)

 

หมวด ๑
บททั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๙  ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนตามที่เห็นสมควร เป็นผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเพื่อปฏิบัติงานที่จำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีองค์คณะผู้พิพากษาตามมาตรา ๑๑ สำหรับคดีใดคดีหนึ่ง

               มาตรา ๑๐  ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้
               (๑) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
               (๒) คดีที่คณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่ากรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
               (๓) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุคคลตาม (๑) และ (๒) เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาตาม (๑) หรือ (๒) รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตาม (๑) หรือ (๒) เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
               (๔) คดีที่บุคคลตาม (๑) หรือกรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน

               มาตรา ๑๑  เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยเร็ว เพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวนเก้าคน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา โดยให้เลือกเป็นรายคดี
               ในกรณีมีเหตุสมควร ผู้พิพากษาคนใดอาจขอถอนตัวจากการได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาได้ โดยให้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก่อนการลงคะแนน และให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติว่าจะให้มีการถอนตัวหรือไม่ มติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เป็นที่สุด
               การเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแต่ละคดีให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ ให้ผู้พิพากษาซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบจำนวนเก้าคนเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาสำหรับคดี ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินจำนวนดังกล่าว ให้ประธานศาลฎีกาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก
               ผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีจนกว่าจะสิ้นสุดหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกา
               ในกรณีที่ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะผู้พิพากษาพ้นจากหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ หรือมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษานั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ดำเนินการเลือกผู้พิพากษาเข้ามาแทนที่ให้ครบจำนวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกนั้น ให้มีอำนาจเช่นเดียวกับผู้พิพากษาอื่นในองค์คณะผู้พิพากษาที่ตนเข้าแทนที่และมีอำนาจตรวจสำนวน ทำความเห็นในการวินิจฉัยคดี และลงลายมือชื่อในคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาได้
               ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะผู้พิพากษาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในวันนัดเป็นการชั่วคราว และผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาคงเหลือไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ให้ถือว่าผู้พิพากษาเท่าที่มีอยู่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีต่อไปได้ เว้นแต่การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษา
               การเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่ผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาต่อไป
               ผู้พิพากษาซึ่งร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกในการประชุมดังกล่าว ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะผู้พิพากษามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด

               มาตรา ๑๒  ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาย่อมพ้นหน้าที่ในคดี เมื่อ
               (๑) พ้นจากการเป็นข้าราชการตุลาการ
               (๒) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ศาลอื่น
               (๓) ถอนตัวเนื่องจากการคัดค้านผู้พิพากษา และองค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งยอมรับตามคำคัดค้านในมาตรา ๑๓
               (๔) มีเหตุสมควรและได้รับอนุญาตจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ถอนตัวได้

               มาตรา ๑๓  หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องจากมีเหตุอันจะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน ในการนี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้วมีคำสั่งยอมรับหรือยกคำคัดค้าน คำสั่งนี้เป็นที่สุด และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
               การคัดค้านผู้พิพากษาจะกระทำมิได้ หากได้เริ่มการไต่สวนพยานหลักฐานไปแล้ว เว้นแต่ผู้คัดค้านสามารถแสดงต่อศาลได้ว่ามีเหตุสมควรที่ทำให้ไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนนั้น

               มาตรา ๑๔  ให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้พิพากษาคนหนึ่งในจำนวนเก้าคนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
               ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจดำเนินการตามมติขององค์คณะผู้พิพากษา และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาอีกสองคน มีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ที่มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้

               มาตรา ๑๕  ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้

               มาตรา ๑๖  ถ้าอัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีเกรงว่าพยานหลักฐานที่อาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาไต่สวนในภายหลัง บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งไต่สวนพยานหลักฐานนั้นไว้ทันทีได้
               ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งก่อนอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาตามมาตรา ๙ เป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนพยานหลักฐานดังกล่าวให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

               มาตรา ๑๗  เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๑) กรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง หรือคำพิพากษานั้นมีผลให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์ตามหมวด ๖ อุทธรณ์ หรือไม่ ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

               มาตรา ๑๘  ในระหว่างพิจารณา ศาลมีอำนาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกาทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาคดี
               (๒) ดำเนินการและจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีตามที่ศาลมีคำสั่ง
               (๓) ช่วยเหลือศาลในการบันทึกคำพยาน
               (๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาในการทำหน้าที่ช่วยเหลือนั้น
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกาให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา

               มาตรา ๑๙  ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือในกฎหมายอื่นที่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นำมาใช้บังคับ หรือในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความมีคำขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
               ในกรณีที่มีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องทางวิธีพิจารณาเกิดขึ้น ศาลอาจสั่งให้คู่ความซึ่งดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

               มาตรา ๒๐  การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือโดยสังเขป พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และให้ที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อนแล้วจึงลงมติโดยให้ถือมติตามเสียงข้างมาก ในการนี้ องค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้
               ความเห็นในการวินิจฉัยคดีตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
               คำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคน ให้เปิดเผยตามวิธีการในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา

               มาตรา ๒๑  คำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
               (๑) ชื่อคู่ความทุกฝ่าย
               (๒) เรื่องที่ถูกกล่าวหา
               (๓) ข้อกล่าวหาและคำให้การ
               (๔) ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา
               (๕) เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
               (๖) บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
               (๗) คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี

               มาตรา ๒๒  เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องจับกุมหรือคุมขังผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเนื่องจากมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะผู้ไต่สวนอิสระ หรืออัยการสูงสุดอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายจับหรือหมายขังผู้นั้นได้
               ในกรณีที่มีการฟ้องคดีแล้ว ไม่ว่าจะมีการคุมขังจำเลยมาก่อนหรือไม่ ให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาถึงเหตุอันควรคุมขังจำเลย และมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรหรือปล่อยชั่วคราวจำเลยนั้นได้

หมวด ๒ การดำเนินคดีอาญา (มาตรา ๒๓ - ๔๔)

 

หมวด ๒
การดำเนินคดีอาญา

-------------------------

               มาตรา ๒๓  ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ได้แก่
               (๑) อัยการสูงสุด
               (๒) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด

               มาตรา ๒๔  ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย
               ในกรณีที่พบว่าศาลอื่นรับฟ้องคดีในข้อหาความผิดอาญาบทอื่นจากการกระทำความผิดกรรมเดียวกับการกระทำความผิดตามที่มีการยื่นฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษาแจ้งไปยังศาลอื่นที่รับฟ้องดังกล่าวเพื่อให้โอนคดีดังกล่าวมายังศาลต่อไป หรือศาลอื่นจะขอโอนคดีดังกล่าวมายังศาลเองก็ได้ และให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วในศาลอื่นก่อนมีคำพิพากษาไม่เสียไป เว้นแต่องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

               มาตรา ๒๕  ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง
               ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
               ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ

               มาตรา ๒๖  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้
               ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ ในวันยื่นฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล และให้โจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาลเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้ในสำนวน ทั้งนี้ ศาลอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
               กรณีที่ศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้อง ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง
               การฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง

               มาตรา ๒๗  ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล และอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล

               มาตรา ๒๘  ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา ๒๗ และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย และให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด
               ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลยและได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้
               บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีในเวลาใดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา แต่การมาศาลดังกล่าวไม่มีผลให้การไต่สวนและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไปแล้วต้องเสียไป

               มาตรา ๒๙  ในคดีที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา ๒๘ และมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ถ้าภายหลังจำเลยมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จำเลยจะมาแสดงตนต่อศาลและยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แต่ต้องยื่นเสียภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ศาลมีอำนาจสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด
               ในกรณีที่ศาลสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๑ แต่ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาต้องไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน
               การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ไม่มีผลให้การไต่สวนและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไปแล้วต้องเสียไป
               การดำเนินการในการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา

               มาตรา ๓๐  เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง เว้นแต่จะได้ความว่าหากไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม

               มาตรา ๓๑  การพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำคัญ ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับได้
               เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังจำเลยได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) จำเลยไม่อาจมาฟังการไต่สวนพยานหลักฐานได้เนื่องจากความเจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน
               (๒) จำเลยเป็นนิติบุคคลและศาลได้ออกหมายจับผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้
               (๓) จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไป และศาลได้ออกหมายจับแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้
               (๔) ในระหว่างพิจารณาหรือไต่สวน ศาลมีคำสั่งให้จำเลยออกจากห้องพิจารณาเพราะเหตุขัดขวางการพิจารณา หรือจำเลยออกไปจากห้องพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
               (๕) จำเลยทราบวันนัดแล้วไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐานใดในนัดนั้นโดยไม่เลื่อนคดี
               กรณีตาม (๓) ในกรณีที่ต้องมีการส่งหนังสือ คำสั่ง หรือหมายอาญาของศาล ให้ส่งไปยังทนายความของจำเลยแทน

               มาตรา ๓๒  ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยซึ่งหลบหนีไปในระหว่างได้รับการปล่อยชั่วคราวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นการหลบหนีไปในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
               ความผิดตามวรรคหนึ่งไม่ระงับไปเพราะเหตุที่คดีของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยนั้นมีการสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง จำหน่ายคดี หรือถอนฟ้อง

               มาตรา ๓๓  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๘ เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลย และนัดคู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก
               นับแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาฟ้อง ให้จำเลยมีสิทธิขอตรวจและขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               ในวันพิจารณาครั้งแรก เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้บันทึกไว้ ถ้าจำเลยไม่ให้การก็ให้บันทึกไว้ และถ้าจำเลยให้การปฏิเสธหรือไม่ให้การ ก็ให้ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน ในกรณีที่จำเลยมิได้มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
               ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้ข้อหาที่จำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกน้อยกว่าห้าปี หรือโทษสถานที่เบากว่านั้น ศาลอาจเรียกพยานหลักฐานมาไต่สวนต่อไปเพื่อทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงก็ได้

               มาตรา ๓๔  ให้โจทก์จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาในจำนวนที่เพียงพอก่อนวันพิจารณาตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               การยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากองค์คณะผู้พิพากษา เมื่อมีเหตุสมควรแสดงได้ว่าไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้น หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดี

               มาตรา ๓๕  ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้โจทก์จำเลยส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุต่อศาลเพื่อให้อีกฝ่ายตรวจสอบ เว้นแต่องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้น หลังจากนั้นให้โจทก์จำเลยแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อองค์คณะผู้พิพากษา
               เพื่อประโยชน์ในการค้นหาความจริง แม้จำเลยจะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา ๓๔ หรือมิได้ส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุต่อศาลตามวรรคหนึ่ง เพราะเหตุที่จำเลยไม่มาศาลและไม่มีทนายความ หรือแม้โจทก์จำเลยจะมิได้มีการโต้แย้งพยานหลักฐานไว้ หรือมีการโต้แย้งพยานหลักฐานภายหลังวันตรวจพยานหลักฐาน องค์คณะผู้พิพากษาจะไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้

               มาตรา ๓๖  ในกรณีที่ต้องมีการไต่สวน ให้องค์คณะผู้พิพากษากำหนดวันเริ่มไต่สวนโดยแจ้งให้โจทก์จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๓๗  ในการไต่สวนพยานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้องค์คณะผู้พิพากษาสอบถามพยานบุคคลเอง โดยการแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงที่จะไต่สวน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเอง หรือตอบคำถามศาล ศาลอาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม แล้วจึงอนุญาตให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม
               การถามพยานตามวรรคหนึ่ง จะใช้คำถามนำตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
               หลังจากคู่ความถามพยานตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

               มาตรา ๓๘  บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
               (๑) พยานบุคคลที่ศาลเรียกมาเองตามมาตรา ๓๗
               (๒) บุคคลซึ่งมาให้ถ้อยคำ และบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๖ วรรคสาม และวรรคสี่
               (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตามมาตรา ๓๙

               มาตรา ๓๙  ศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องแจ้งให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ และให้โอกาสคู่ความตามสมควร ในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

               มาตรา ๔๐  เมื่อการไต่สวนพยานหลักฐานเสร็จสิ้น โจทก์จำเลยมีสิทธิแถลงปิดคดีของตนภายในเวลาที่ศาลกำหนด แล้วให้องค์คณะผู้พิพากษามีคำพิพากษาและให้อ่านคำพิพากษาในศาลโดยเปิดเผยภายในสามสิบวันนับแต่วันเสร็จการพิจารณา
               ในกรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง แต่จำเลยที่ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว
               ในการพิจารณาคดีตามมาตรา ๒๘ วรรคสอง เมื่อศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ปิดประกาศแจ้งการนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ณ ภูมิลำเนา หรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของจำเลย หรือวิธีการอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร และให้ถือว่าจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว

               มาตรา ๔๑  ให้ถือว่าพยานบุคคลในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เป็นพยานที่อาจได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา

               มาตรา ๔๒  การริบทรัพย์สินในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม นอกจากศาลจะมีอำนาจริบทรัพย์สินตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
               (๑) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
               (๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด หรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทำความผิด
               (๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) หรือ (๒)
               (๔) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
               ในการที่ศาลจะมีคำสั่งริบทรัพย์สินตาม (๑) ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด รวมทั้งโอกาสที่จะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทำความผิดอีก
               ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีวิธีการอื่นที่จะทำให้บุคคลไม่สามารถใช้ทรัพย์สินตาม (๑) ในการกระทำความผิดได้อีกต่อไป ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวแทนการริบทรัพย์สิน
               หากการดำเนินการตามวรรคสามไม่เป็นผล ศาลจะมีคำสั่งริบทรัพย์สินนั้นในภายหลังก็ได้

               มาตรา ๔๓  การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม บรรดาทรัพย์สินดังต่อไปนี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
               (๑) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
               (๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดในลักษณะเดียวกันตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือตามกฎหมายอื่น
               (๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่ได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทำความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทำความผิด
               (๔) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
               (๕) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

               มาตรา ๔๔  ในการพิพากษาคดีหรือภายหลังจากนั้น ถ้าความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำขอของโจทก์ว่า สิ่งที่ศาลจะสั่งริบหรือได้สั่งริบ โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดในวันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และสั่งให้ผู้มีหน้าที่ต้องส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด
               การกำหนดมูลค่าตามวรรคหนึ่งในกรณีที่มีการนำไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือในกรณีมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนต่ำกว่าราคาท้องตลาดของสิ่งที่ศาลสั่งริบในวันที่มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น ให้ศาลกำหนดโดยคำนึงถึงสัดส่วนของทรัพย์สินที่มีการรวมเข้าด้วยกันนั้น หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนสิ่งนั้น แล้วแต่กรณี
               ในการสั่งให้บุคคลชำระเงินตามวรรคหนึ่ง ศาลจะกำหนดให้ผู้นั้นชำระเงินทั้งหมดในคราวเดียวหรือจะให้ผ่อนชำระก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่กรณี และถ้าผู้นั้นไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่ศาลกำหนด และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลนั้นได้ไม่เกินจำนวนเงินที่ยังค้างชำระ

หมวด ๓ การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (มาตรา ๔๕ - ๔๘)

 

หมวด ๓
การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

-------------------------

               มาตรา ๔๕  ในการพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การดำเนินคดีอาญา เว้นแต่มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ เฉพาะบทบัญญัติที่กำหนดให้ในวันยื่นฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ วรรคสาม และวรรคสี่ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๖  คำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติแล้ว จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและสถานที่ตั้งของทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ชื่อและที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะยื่นคำร้องด้วย

               มาตรา ๔๗  เมื่อได้รับคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ศาลประกาศคำร้องดังกล่าวในที่เปิดเผยตามวิธีการในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
               บุคคลภายนอกอาจร้องคัดค้านเข้ามาในคดีได้ แต่ต้องกระทำก่อนศาลมีคำพิพากษา

               มาตรา ๔๘  ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ต่อศาล
               ถ้าผู้มีภาระการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
               ในกรณีผู้ที่กล่าวอ้างโต้แย้งเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถในการพิสูจน์ของบุคคลดังกล่าว และพิจารณาพิพากษาตามที่เห็นว่าเป็นธรรม

หมวด ๔ การดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. (มาตรา ๔๙ - ๕๖)

 

หมวด ๔
การดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช.

-------------------------

               มาตรา ๔๙  ในกรณีที่มีการกล่าวหาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ว่ากรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาและเสนอเรื่องมายังประธานศาลฎีกา ให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระตามมาตรา ๕๐ เพื่อดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและทำความเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว

               มาตรา ๕๐  ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ประกอบด้วยบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ที่คัดเลือกจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยให้แต่งตั้งจากข้าราชการอัยการที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการ หรืออัยการอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีอย่างน้อยหนึ่งคน สำหรับจำนวนที่เหลือให้คัดเลือกจากบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๕๑ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๒ ตามความเหมาะสมแห่งคดี

               มาตรา ๕๑  ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะผู้ไต่สวนอิสระต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีในวันแต่งตั้ง และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ด้วย
               (๑) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๒) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๓) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๔) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
               (๕) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
               (๖) เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
               (๗) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
               การนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้ง

               มาตรา ๕๒  ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะผู้ไต่สวนอิสระต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
               (๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               (๓) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
               (๔) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
               (๕) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
               (๖) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
               (๗) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
               (๘) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
               (๙) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๑๐) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
               (๑๑) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
               (๑๒) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               (๑๓) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
               (๑๔) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
               (๑๕) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๑๖) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการแต่งตั้ง

               มาตรา ๕๓  ในการดำเนินการของคณะผู้ไต่สวนอิสระ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๔  ผู้ไต่สวนอิสระมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนอย่างอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด

               มาตรา ๕๕  คณะผู้ไต่สวนอิสระมีอำนาจสั่งให้กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเพื่อประกอบการไต่สวนตามรายการ วิธีการ และภายในระยะเวลาที่คณะผู้ไต่สวนอิสระกำหนด โดยจะเรียกรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้เคยยื่นไว้จากผู้ซึ่งเก็บรักษาเพื่อนำมาเทียบเคียงดูด้วยก็ได้
               ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหกสิบวัน

               มาตรา ๕๖  เมื่อดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้สั่งยุติเรื่อง และให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด
               (๒) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
               (๓) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา และมิใช่เป็นกรณีตาม (๒) ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล
               ในการไต่สวนและดำเนินการตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ยื่นคำขอต่อประธานศาลฎีกาเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาตามที่เห็นสมควร
               ให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีอาญาตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนอิสระภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง
               ในกรณีที่ไม่อาจฟ้องคดีได้ก่อนพ้นระยะเวลาตามวรรคสาม ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตขยายระยะเวลาฟ้องคดีออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนด แต่ทั้งนี้ ต้องฟ้องภายในอายุความ
               ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การดำเนินคดีอาญา และหมวด ๓ การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน มาใช้บังคับในการดำเนินคดีตามหมวดนี้โดยอนุโลม

หมวด ๕ การดำเนินคดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน (มาตรา ๕๗ - ๕๙)

 

หมวด ๕
การดำเนินคดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชี
แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

-------------------------

               มาตรา ๕๗  ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการที่บุคคลตามมาตรา ๑๐ (๑) ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด
               ในกรณีที่กรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ถูกกล่าวหา อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นอำนาจของหน่วยงานที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด

               มาตรา ๕๘  คำร้องตามมาตรา ๕๗ ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งของผู้นั้น บุคคลซึ่งผู้นั้นมีหน้าที่รับผิดชอบต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ระยะเวลาที่ต้องยื่น รวมทั้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยชัดแจ้งพร้อมทั้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ผลการตรวจสอบและรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งมติและรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่กรณีที่หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง โดยอนุโลม

               มาตรา ๕๙  การพิจารณาพิพากษาคดีตามหมวดนี้ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การดำเนินคดีอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีมีข้อขัดข้องในการดำเนินคดีส่วนอาญาที่อาจทำให้การวินิจฉัยคดีล่าช้าออกไป องค์คณะผู้พิพากษาอาจมีคำสั่งให้แยกการดำเนินคดีในส่วนอาญาออกเป็นอีกคดีหนึ่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีต่อไปได้

หมวด ๖ อุทธรณ์ (มาตรา ๖๐ - ๖๔)

 

หมวด ๖
อุทธรณ์

-------------------------

               มาตรา ๖๐  คำพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

               มาตรา ๖๑  ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

               มาตรา ๖๒  คดีที่ไม่มีอุทธรณ์คำพิพากษา ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ศาลได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษา แต่ถ้าเป็นคดีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ศาลมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีดังกล่าวต่อไปให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๖๓

               มาตรา ๖๓  การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวนเก้าคน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน โดยให้เลือกเป็นรายคดี คำวินิจฉัยอุทธรณ์ขององค์คณะให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
               ให้นำความในมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับแก่การดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์ โดยอนุโลม

               มาตรา ๖๔  ในการพิจารณาอุทธรณ์ หากมีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญ ผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดในองค์คณะของศาลฎีกานั้น หรือประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาจะเสนอประธานศาลฎีกาเพื่อพิจารณาให้มีการวินิจฉัยปัญหานั้นโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ได้
               เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในเรื่องหรือประเด็นใดตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้องค์คณะของศาลฎีกาวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาในเรื่องหรือประเด็นนั้นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

หมวด ๗ การบังคับคดี (มาตรา ๖๕ - ๖๗)

 

หมวด ๗
การบังคับคดี

-------------------------

               มาตรา ๖๕  การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
               คำพิพากษาและคำสั่งในการบังคับคดีตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๖๖  การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลซึ่งต้องชำระเงินแทนมูลค่าสิ่งที่ศาลสั่งริบหรือสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ให้กระทำได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และให้พนักงานอัยการหรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการบังคับคดี โดยให้ร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีมีหน้าที่และอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดตามที่ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการหรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทั้งนี้ มิให้หน่วยงานของรัฐเรียกค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจากผู้ดำเนินการบังคับคดี
               การบังคับคดีตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้แม้ว่าบุคคลซึ่งต้องชำระเงินแทนมูลค่าสิ่งที่ศาลสั่งริบถึงแก่ความตายไปแล้ว หากปรากฏว่าคำพิพากษาถึงที่สุดก่อนผู้นั้นถึงแก่ความตาย

               มาตรา ๖๗  ในกรณีที่ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินนั้นตามสภาพที่เป็นอยู่ คำร้องของเจ้าของที่แท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
               ในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลซึ่งต้องชำระเงินตามมาตรา ๔๔ หากปรากฏโดยคำร้องของผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดว่าผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินนั้นตามสภาพที่เป็นอยู่ หากไม่อาจส่งคืนทรัพย์สินได้ ให้คืนเป็นเงินแทนตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี คำร้องของเจ้าของที่แท้จริงเช่นว่านี้จะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าว

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๖๘ - ๗๐)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๖๘  ในระหว่างที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ากรณีมีมูลที่จะดำเนินคดีตามมาตรา ๑๐ (๑) หรือ (๓) และยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีอาญาตามมาตรา ๒๓ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับกับการดำเนินการดังกล่าวโดยอนุโลม จนกว่าจะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใช้บังคับ

               มาตรา ๖๙  บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๗๐  บรรดาพระราชกฤษฎีกา ระเบียบ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบหรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

   ผู้รับสนองพระราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๙๙ ก/หน้า ๑/๒๘ กันยายน ๒๕๖๐