My Template

หมวด ๕ สำนักงานศาลปกครอง (มาตรา ๗๖ - ๙๓)

 

หมวด ๕
สำนักงานศาลปกครอง

-------------------------

               มาตรา ๗๖  ให้มีสำนักงานศาลปกครองเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคล

               มาตรา ๗๗  สำนักงานศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
              
(๑) รับผิดชอบในงานธุรการของศาลปกครอง
              
(๒) ดำเนินการเกี่ยวกับคดีปกครองตามคำสั่งของศาลปกครอง
              
(๓) ดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำบังคับของศาลปกครอง
               (๔) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของศาลปกครอง
              
(๕) วิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครองเพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
              
(๖) จัดพิมพ์และเผยแพร่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง
              
(๗) จัดให้มีการศึกษาอบรมและพัฒนาความรู้ของตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาหลักกฎหมายมหาชน การบริหารราชการแผ่นดิน และบุคลากรด้านกฎหมายมหาชน
              
(๘) ปฏิบัติการอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานศาลปกครอง

               มาตรา ๗๘  ให้มีเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครองขึ้นตรงต่อประธานศาลปกครองสูงสุด มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งราชการของสำนักงานศาลปกครอง และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานศาลปกครอง โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
              
การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่ง โดยความเห็นชอบของ ก.ศป. เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
              
ในกิจการของสำนักงานศาลปกครองที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้แทนของสำนักงานศาลปกครอง เพื่อการนี้ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองจะมอบหมายให้บุคคลใดปฏิบัติราชการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              
เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง แต่ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยความเห็นชอบของ ก.ศป. อาจขยายเวลาการดำรงตำแหน่งได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละหนึ่งปี
              
ในกรณีที่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งโดยมิได้พ้นจากราชการ และมิได้มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือมีมลทินหรือมัวหมอง ถ้าผู้นั้นมีอายุยังไม่ครบหกสิบปี ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยความเห็นชอบของ ก.ขป. มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในระดับที่เทียบเท่าตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

               มาตรา ๗๘/๑  เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอาจแต่งตั้งจากตุลาการศาลปกครองโดยความเห็นชอบของ ก.ศป. และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลปกครอง
              
เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน เว้นแต่ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยความเห็นชอบของ ก.ศป. มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว
               ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง
และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามอัตราของตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และหากเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งที่ได้รับอยู่ก่อนแต่งตั้ง สูงกว่าอัตราเงินเดือนหรืออัตราเงินประจำตำแหน่งสูงสุดของตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ให้ปรับเข้ากับอัตราเงินเดือนหรืออัตราเงินประจำตำแหน่งสูงสุดของตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

               มาตรา ๗๘/๒  ในกรณีที่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๗๘/๑ กระทำผิดวินัยอยู่ก่อนวันโอนมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ให้ ก.ขป. เป็นผู้พิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่ผู้นั้นตามบทบัญญัติเกี่ยวกับวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง แต่ถ้าได้กระทำผิดวินัยในระหว่างการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และได้โอนกลับไปเป็นตุลาการศาลปกครองแล้ว ให้ ก.ศป. เป็นผู้พิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่ผู้นั้นตามบทบัญญัติเกี่ยวกับวินัยของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับโทษที่จะลง ให้ ก.ศป. เป็นผู้วินิจฉัย
               การพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง ถ้าเรื่องอยู่ในระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวน
ของผู้บังคับบัญชาก่อนโอนมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง หรือก่อนโอนกลับไปเป็นตุลาการศาลปกครอง ให้ดำเนินการต่อไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่กระทำความผิดนั้นจนแล้วเสร็จ แล้วส่งเรื่องให้ ก.ขป. หรือ ก.ศป. แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

               มาตรา ๗๙  ให้มีพนักงานคดีปกครองทำหน้าที่ช่วยเหลือตุลาการเจ้าของสำนวนในการดำเนินคดีปกครองตามที่ตุลาการเจ้าของสำนวนมอบหมาย และปฏิบัติหน้าที่อื่นในสำนักงานศาลปกครองตามที่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมอบหมาย
              
ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีปกครองตามที่ตุลาการเจ้าของสำนวนมอบหมายให้พนักงานคดีปกครองเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๘๐  คุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานคดีปกครองในระดับต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ศป. กำหนด
              
ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดสำนักงานศาลปกครองซึ่งมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเป็นพนักงานคดีปกครอง

               มาตรา ๘๑  ให้มีคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า ก.ขป.ประกอบด้วย
              
(๑) ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือรองประธานศาลปกครองสูงสุดที่ประธานศาลปกครองสูงสุด
มอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
              
(๒) เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นกรรมการ
              
(๓) กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการศาลปกครอง จำนวนสี่คน ซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนสองคน และได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น จำนวนสองคน
              
(๔) กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในระดับไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ ก.ศป. กำหนด จำนวนสี่คน ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
              
(๕) กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาองค์กรและด้านการบริหารจัดการ ที่ไม่เป็นหรือไม่เคยเป็นข้าราชการศาลปกครอง ด้านละหนึ่งคน ซึ่งได้รับเลือกจากประธานกรรมการและกรรมการตาม (๒) (๓) และ (๔)
               ให้ ก.ขป. แต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ

               มาตรา ๘๑/๑  กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) และ (๕) จะดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๒) หรือ (๓) ในเวลาเดียวกันมิได้

               มาตรา ๘๑/๒  กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๑/๔

               มาตรา ๘๑/๓  การเลือกกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
               (๑) การเลือกกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓) ให้นำความในมาตรา ๔๑/๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
              
(๒) การเลือกกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๔) ให้เป็นไปตามวิธีการที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

               มาตรา ๘๒  กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) และ (๕) ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับเลือกใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้
              
ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการเลือกซ่อมภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง เว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการผู้นั้นจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการเลือกซ่อมก็ได้
              
กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองซึ่งได้รับเลือกซ่อมให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

               มาตรา ๘๓๑๐  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) และ (๕) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
              
(๑) ตาย
              
(๒) ลาออก
              
(๓) ก.ขป. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากกระทำการหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
              
(๔) พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลปกครองตามมาตรา ๒๑ ในกรณีที่เป็นกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓)
              
(๕) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในกรณีที่เป็นกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓)
              
(๖) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง หรือกรรมการบริหารศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๔๑/๒ วรรคหนึ่ง ในกรณีที่เป็นกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๓) (๔) และ (๕)
               (๗) พ้นจากการเป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ในกรณีที่เป็นกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๔)
              
(๘) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘๑/๒ ในกรณีที่เป็นกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง (๕)
               ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
ผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้ ก.ขป. เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

               มาตรา ๘๔๑๑  ให้ ก.ขป. มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการดำเนินการอื่นของสำนักงานศาลปกครองในเรื่อง ดังต่อไปนี้
               (๑) การกำหนดคุณสมบัติ การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ การย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การออกจากราชการ
วินัย การสอบสวน การสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการลงโทษทางวินัย การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์การลงโทษสำหรับข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
              
(๒) การรักษาราชการแทนและการปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
              
(๓) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
              
(๔) การแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ ตามแต่จะมอบหมาย
              
(๕) การรักษาทะเบียนประวัติและควบคุมการเกษียณอายุของข้าราชการศาลปกครอง
              
(๖) การกำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างพนักงานราชการและลูกจ้างสำนักงานศาลปกครอง การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งกาย วินัย การสอบสวนและการลงโทษทางวินัย
การร้องทุกข์ การอุทธรณ์ การรักษาทะเบียนประวัติ รวมทั้งการอื่นที่จำเป็นของพนักงานราชการและลูกจ้างสำนักงานศาลปกครอง
              
(๗) พิจารณาเสนอแนะต่อ ก.บ.ศป. ในการออกประกาศแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานศาลปกครอง และกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว
              
(๘) พิจารณาเสนอแนะต่อ ก.บ.ศป. ในการออกระเบียบการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์อื่นแก่ข้าราชการศาลปกครอง และพนักงานราชการและลูกจ้างสำนักงานศาลปกครอง
              
(๙) การกำหนดกิจการอื่นที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของ ก.ขป.

               มาตรา ๘๔/๑๑๒  การประชุมของ ก.ขป. ให้นำความในมาตรา ๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๘๕  การกำหนดตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนสามัญมาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ คำว่า “ก.พ.ให้หมายถึงคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง

               มาตรา ๘๖  อัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่ง และการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ให้นำบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือนในกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๘๗  การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
              
(๑) การบรรจุและแต่งตั้งรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่ง โดยความเห็นชอบของ ก.ศป. เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
              
(๒) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (๑) ให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง

               มาตรา ๘๘  การโอนข้าราชการฝ่ายศาลปกครองไปบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการในหน่วยงานของรัฐอื่นหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการโอนข้าราชการในหน่วยงานของรัฐอื่นหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองอาจกระทำได้ถ้าเจ้าตัวสมัครใจโดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทำความตกลงกับเจ้าสังกัด และได้ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองกำหนดโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการหรือคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นประเภทนั้น ๆ แล้วแต่กรณี
              
การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่โอนมาเป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครองตามวรรคหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งระดับใดและให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเท่าใด ให้คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองเป็นผู้พิจารณากำหนด แต่เงินเดือนที่จะให้ได้รับจะต้องไม่สูงกว่าข้าราชการฝ่ายศาลปกครองที่มีคุณวุฒิ ความสามารถ และความชำนาญงานในระดับเดียวกัน
              
เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาราชการ ให้ถือเวลาราชการหรือเวลาทำงานของผู้ที่โอนมาเป็นให้ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองตามวรรคหนึ่งในขณะที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเวลาราชการของข้าราชการฝ่ายศาลปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
              
การโอนข้าราชการการเมืองและข้าราชการที่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการมาเป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครองตามพระราชบัญญัตินี้จะกระทำมิได้

               มาตรา ๘๙  ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน

               มาตรา ๙๐  เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองแล้ว ให้เสนอผลการสอบบัญชีโดยตรงต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี โดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๙๑  ให้สำนักงานศาลปกครองเสนองบประมาณรายจ่ายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจทำความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองไว้ในรายงานการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วยก็ได้

               มาตรา ๙๒  ในการเสนอหรือพิจารณางบประมาณรายจ่าย การแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองหรือในการพิจารณาเรื่องใดเกี่ยวกับสำนักงานศาลปกครองหรือศาลปกครอง ถ้าเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองร้องขอคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องอาจอนุญาตให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองหรือผู้ซึ่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมอบหมายมาชี้แจงได้

               มาตรา ๙๓  ให้สำนักงานศาลปกครองจัดทำรายงานการปฏิบัติงานของศาลปกครองและของสำนักงานศาลปกครองเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาปีละหนึ่งครั้ง


               มาตรา ๗๘ วรรคสี่ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๗๘ วรรคห้า เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๗๘/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๗๘/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๘๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๘๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๘๑/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๘๑/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๘๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               ๑๐ มาตรา ๘๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               ๑๑ มาตรา ๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐
               ๑๒ มาตรา ๘๔/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐