My Template

ส่วนที่ ๗ การยกเลิกการล้มละลาย (มาตรา ๑๓๕ - ๑๓๘)

 

ส่วนที่ ๗
การยกเลิกการล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๑๓๕  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ช่วยหรือยอมเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายหรือวางเงินประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง และไม่มีเจ้าหนี้อื่นสามารถและเต็มใจกระทำการดังกล่าวแล้วภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ขัดขืนหรือละเลยนั้น
               (๒) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย
               (๓) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
                     ถ้าลูกหนี้ปฏิเสธหนี้สินรายใด แต่ลูกหนี้ยอมทำสัญญาและให้ประกันต่อศาลว่าจะใช้เงินให้เต็มจำนวนกับค่าธรรมเนียมด้วยก็ดี หรือถ้าหาตัวเจ้าหนี้ไม่พบ แต่ลูกหนี้ได้นำเงินเต็มจำนวนมาวางต่อศาลก็ดี ให้ถือว่าหนี้สินรายนั้นได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
               (๔) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ครั้งที่สุด หรือไม่มีทรัพย์สินจะแบ่งให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ต่อแต่นั้นมาภายในกำหนดเวลาสิบปี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายได้อีก และไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย

               มาตรา ๑๓๖  คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา ๑๓๕ (๑) หรือ (๒) นั้นไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด

               มาตรา ๑๓๗  คำสั่งยกเลิกการล้มละลายไม่กระทบถึงการใดที่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้ว ส่วนทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายให้ตกแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลกำหนด หรือถ้าไม่ได้กำหนด ก็ให้คืนแก่บุคคลล้มละลาย

               มาตรา ๑๓๘  เมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ