My Template

หมวด ๕ สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนอง (มาตรา ๗๓๖ - ๗๔๓)

 

หมวด ๕
สิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง

-------------------------

               มาตรา ๗๓๖  ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองก็ได้ ถ้าหากมิได้เป็นตัวลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรือเป็นทายาทของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน

               มาตรา ๗๓๗  ผู้รับโอนจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองได้บอกกล่าวว่าจะบังคับจำนอง ผู้รับโอนต้องไถ่ถอนจำนองภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำบอกกล่าว

               มาตรา ๗๓๘  ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น
               คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ
               (๑) ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง
               (๒) วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์
               (๓) ชื่อเจ้าของเดิม
               (๔) ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน
               (๕) จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้
               (๖) คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน
               อนึ่งให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย

               มาตรา ๗๓๙  ถ้าเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดไม่ยอมรับคำเสนอ เจ้าหนี้คนนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น แต่ว่าเจ้าหนี้นั้นจะต้องปฏิบัติการดังจะกล่าวต่อไปนี้ด้วย คือ
               (๑) ออกเงินทดรองค่าฤชาธรรมเนียมการขายทอดตลาด
               (๒) ต้องเข้าสู้ราคาเอง หรือแต่งคนเข้าสู้ราคาเป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่ผู้รับโอนเสนอจะใช้
               (๓) บอกกล่าวการที่ตนไม่ยอมนั้นให้ผู้รับโอนและเจ้าหนี้คนอื่น ๆ บรรดาได้จดทะเบียน กับทั้งเจ้าของทรัพย์คนก่อนและลูกหนี้ชั้นต้นทราบด้วย

               มาตรา ๗๔๐  ถ้าขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิล้ำจำนวนเงินที่ผู้รับโอนเสนอว่าจะใช้ ท่านให้ผู้รับโอนเป็นผู้ออกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในการขายทอดตลาด ถ้าได้ไม่ถึงล้ำจำนวน ท่านให้เจ้าหนี้ผู้ร้องขอให้ขายทอดตลาดเป็นผู้ออก

               มาตรา ๗๔๑  เมื่อเจ้าหนี้ทั้งหลายได้สนองรับคำเสนอทั่วทุกคนแล้ว โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ดี ท่านว่าจำนองหรือบุริมสิทธิก็เป็นอันไถ่ถอนได้ด้วยผู้รับโอนใช้เงิน หรือวางเงินตามจำนวนที่เสนอจะใช้แทนการชำระหนี้

               มาตรา ๗๔๒  ถ้าการบังคับจำนองก็ดี ถอนจำนองก็ดี เป็นเหตุให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุดมือไปจากบุคคลผู้ได้ทรัพย์สินนั้นไว้แต่ก่อนไซร้ ท่านว่าการที่ทรัพย์สินหลุดมือไปเช่นนั้นหามีผลย้อนหลังไม่ และบุริมสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้แห่งผู้ที่ทรัพย์หลุดมือไปอันมีอยู่เหนือทรัพย์สินและได้จดทะเบียนไว้นั้น ก็ย่อมเข้าอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิอันเจ้าหนี้ของผู้จำนอง หรือเจ้าของคนก่อนได้จดทะเบียนไว้
               ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสิทธิใด ๆ อันมีอยู่เหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แต่ก่อนได้ระงับไปแล้วด้วยเกลื่อนกลืนกันในขณะที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาไซร้ สิทธินั้นท่านให้กลับคืนมาเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลผู้นั้นได้อีก ในเมื่อทรัพย์สินซึ่งจำนองกลับหลุดมือไป

               มาตรา ๗๔๓  ถ้าผู้รับโอนได้ทำให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองเสื่อมราคาลงเพราะการกระทำหรือความประมาทเลินเล่อแห่งตน เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ทั้งหลายผู้มีสิทธิจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นต้องเสียหายไซร้ ท่านว่าผู้รับโอนจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น อย่างไรก็ดี อันผู้รับโอนจะเรียกเอาเงินจำนวนใด ๆ ซึ่งตนได้ออกไป หรือเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ตนได้ทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นนั้น ท่านว่าหาอาจจะเรียกได้ไม่ เว้นแต่ที่เป็นการทำให้ทรัพย์สินนั้นงอกราคาขึ้น และจะเรียกได้เพียงเท่าจำนวนราคาที่งอกขึ้นเมื่อขายทอดตลาดเท่านั้น


               มาตรา ๗๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗