My Template

ลักษณะ ๒ ฎีกา (มาตรา ๒๔๗ - ๒๕๒)

 

ลักษณะ ๒
ฎีกา

-------------------------

               มาตรา ๒๔๗  การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
               การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ แล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา และให้ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคำร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

               มาตรา ๒๔๘  คำร้องตามมาตรา ๒๔๗ ให้พิจารณาและวินิจฉัยโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วยรองประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อยสามคน
               การวินิจฉัยให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้บังคับตามความเห็นของฝ่ายที่เห็นควรอนุญาตให้ฎีกา

               มาตรา ๒๔๙  ให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาตามมาตรา ๒๔๗ ได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
               ปัญหาสำคัญตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
               (๒) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
               (๓) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
               (๔) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
               (๕) เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย
               (๖) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
               ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามวรรคสอง (๖) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
               ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

               มาตรา ๒๕๐  หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัยและระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องตามมาตรา ๒๔๗ การตรวจรับฎีกา การแก้ฎีกา การพิจารณา และการพิพากษาคดี รวมทั้งการสั่งคืนค่าฤชาธรรมเนียม ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
               ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๒๕๑  ในคดีที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาที่มีแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายนั้นและยกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้น แล้วมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้น แล้วแต่กรณี ทำคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ได้

               มาตรา ๒๕๒  ในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา ๒๕๐ กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๑ ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม


               มาตรา ๒๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
                มาตรา ๒๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๕๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘