หมวด ๔ การสืบพยานหลักฐาน (ข้อ ๑๙ - ๒๔)

 

หมวด ๔
การสืบพยานหลักฐาน

-------------------------

               ข้อ ๑๙  ก่อนการสืบพยานให้ศาลแจ้งประเด็นข้อพิพาท ภาระการพิสูจน์ในแต่ละประเด็นและลำดับก่อนหลังในการนำพยานหลักฐานของคู่ความแต่ละฝ่ายเข้าสืบ ให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ

               ข้อ ๒๐  ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการเพื่อให้มีการตรวจสอบพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดี การตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ การตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ หรือตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน ทุนจดทะเบียน รายได้ รายชื่อหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเรียกให้หน่วยงานหรือบุคคลใดมาให้ข้อมูลหรือจัดส่งพยานหลักฐาน หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาพิพากษาคดี
              
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานคดีอาจประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ตรวจพิสูจน์หรือขอข้อมูลที่จำเป็น หรือมีหนังสือเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูลหรือจัดส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการดำเนินการ แล้วจัดทำรายงานเสนอต่อศาล โดยอาจระบุถึงพยานหลักฐานที่ศาลสมควรเรียกมาสืบเพิ่มเติมตามมาตรา ๓๓ หรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลสมควรรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๓๖

               ข้อ ๒๑  พยานหลักฐานหรือความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามรายงานของเจ้าพนักงานคดีตามข้อ ๒๐ ให้ศาลแจ้งให้คู่ความทราบก่อนการสืบพยานนั้นตามสมควร เพื่อให้คู่ความมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าวหรือเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมได้

               ข้อ ๒๒  ศาลอาจใช้ข้อมูลที่ได้จากรายงานของเจ้าพนักงานคดีเป็นแนวทางในการซักถามพยานก็ได้

               ข้อ ๒๓  ในกรณีที่มีการบันทึกคำพยานโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุ ซึ่งสามารถถ่ายทอดเป็นภาพหรือเสียงหรือโดยใช้วิธีการอื่นใด ซึ่งคู่ความและพยานสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องของบันทึกการเบิกความนั้นได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อความที่บันทึก ตลอดจนการจัดทำสำเนาข้อความดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือสิ่งบันทึกอย่างอื่น

               ข้อ ๒๔  ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีช่วยตรวจสอบและดูแลให้คู่ความดำเนินคดีไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากพบว่ามีข้อบกพร่อง ให้รายงานต่อศาลพร้อมด้วยแนวทางแก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้ศาลพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร