ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดี พ.ศ. ๒๕๕๑

 

ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม
ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดี
พ.ศ. ๒๕๕๑

-------------------------

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ และมาตรา ๒๑ (๑) (๖) และ (๙) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

               ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดี พ.ศ. ๒๕๕๑

               ข้อ ๒  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               ข้อ ๓  ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดีซึ่งต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
              
(๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางกฎหมายหรือปริญญาเอกทางกฎหมาย
               (๒) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมาย เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติ
บัณฑิตยสภาและได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายตามที่ ก.ศ. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
              
(๓) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและปริญญาในสาขาวิชาอื่นที่ ก.ศ. กำหนดซึ่งไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพอื่นตามที่ ก.ศ. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี

               ข้อ ๔  การประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ตามข้อ ๓ (๒) ได้แก่ เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี พนักงานอัยการ นายทหารเหล่าพระธรรมนูญ ทนายความหรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย ได้แก่
              
(๑) เป็นข้าราชการศาลยุติธรรมตำแหน่งเจ้าพนักงานศาลยุติธรรม (วุฒิทางกฎหมาย) ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริงในหน้าที่ดังกล่าวตามมาตรฐานในสายงานนิติการที่ ก.ศ. กำหนด
              
(๒) เป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน (วุฒิทางกฎหมาย) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริง
               (๓) เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ หรือภาควิชานิติศาสตร์ หรือสาขาวิชา
นิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่กระทรวงศึกษาธิการให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรนิติศาสตร์ ซึ่งคณบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่ารับรองว่าได้สอนวิชากฎหมายตามหลักสูตรในคณะนิติศาสตร์ หรือภาควิชานิติศาสตร์ หรือสาขาวิชานิติศาสตร์
               (๔) เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่พนักงานสอบสวนและผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานสอบสวน
              
(๕) เป็นนายทหารซึ่งทำหน้าที่นายทหารสืบสวนสอบสวน หรือนายทหารสารวัตรสืบสวนสอบสวน กระทรวงกลาโหม ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานสอบสวนคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทหาร
               (๖) เป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานสอบสวนคดียาเสพติด
              
(๗) เป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริง
              
(๘) เป็นข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน (วุฒิทางกฎหมาย) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือนักวิชาการที่ดิน (วุฒิทางกฎหมาย) กรมที่ดิน ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริงในหน้าที่ดังกล่าว ตามมาตรฐานในสายงานนิติการที่ ก.พ. กำหนด
              
(๙) เป็นเจ้าพนักงานการเลือกตั้ง (งานนิติการ) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริงในหน้าที่ดังกล่าว ตามมาตรฐานในสายงานนิติการที่ ก.พ. กำหนด หรือเจ้าพนักงานการเลือกตั้ง (งานวินิจฉัยหรืองานสืบสวนสอบสวน) หรือพนักงานสืบสวนสอบสวน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานพิจารณาวินิจฉัยหรือสอบสวน
              
(๑๐) เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างในกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่พนักงานคุมประพฤติ ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าว ตามมาตรฐานในสายงานคุมประพฤติ ที่ ก.พ. กำหนด
              
(๑๑) เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกรตามมาตรฐานในสายงานนิติการที่ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคลอื่นกำหนด แล้วแต่กรณี
              
(๑๒) เป็นพนักงานของสถาบันการเงินที่ ก.ศ. รับรอง ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกร
              
(๑๓) เป็นเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ (วุฒิทางกฎหมาย) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริงในหน้าที่ดังกล่าว ตามมาตรฐานที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
              
(๑๔) เป็นนักวิจัยหรือผู้ช่วยนักวิจัย (วุฒิทางกฎหมาย) ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริง
              
(๑๕) เป็นตำรวจซึ่งทำหน้าที่นิติกร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกร ตามมาตรฐานในสายงานนิติการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
              
(๑๖) เป็นพนักงานคดีปกครอง (วุฒิทางกฎหมาย) สำนักงานศาลปกครอง ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริงในหน้าที่ดังกล่าว ตามมาตรฐานที่สำนักงานศาลปกครองกำหนด
              
(๑๗) เป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ (วุฒิทางกฎหมาย) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายอย่างแท้จริงในหน้าที่ดังกล่าว ตามมาตรฐานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษกำหนด
              
(๑๘) เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน (วุฒิทางกฎหมาย) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองว่าได้ปฏิบัติงานสอบสวนคดีเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
              
(๑๙) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายที่ได้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายในลักษณะทำนองเดียวกันหรือเทียบได้กับวิชาชีพตาม (๑) - (๑๘) ซึ่ง ก.ศ. รับรองเป็นรายกรณี

               ข้อ ๕  ปริญญาในสาขาวิชาอื่น ตามข้อ ๓ (๓) ได้แก่ ปริญญาในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือการบัญชี

               ข้อ ๖  การประกอบวิชาชีพตามข้อ ๓ (๓) ได้แก่ วิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ การพยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม หรือเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แล้วแต่กรณี ในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน โดยจะต้องมีหนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชามาแสดงว่าได้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวอย่างแท้จริง ในกรณีที่มิได้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน จะต้องมีหนังสือรับรองตนเองมาแสดงว่าได้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวอย่างแท้จริงและมีหลักฐานแสดงผลงานในการทำงาน

               ข้อ ๗  ให้ ก.ศ. มีอำนาจประกาศกำหนดปริญญาและการประกอบวิชาชีพอื่น ๆ เพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร

               ข้อ ๘  หนังสือรับรองตามข้อ ๔ และข้อ ๖ ให้เป็นไปตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด

               ข้อ ๙  ให้เจ้าพนักงานคดีมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ศ. กำหนด

               ข้อ ๑๐  ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรักษาการตามระเบียบนี้

               ข้อ ๑๑  ให้ ก.ศ. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
พิชิต คำแฝง
รองประธานศาลฎีกา
ประธานกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม