พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙

 

พระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง
พ.ศ. ๒๔๙๙

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙
เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลแขวง และให้มีวิธีพิจารณาความอาญาเป็นพิเศษในศาลแขวง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ตั้งศาลแขวงตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมขึ้นในทุกจังหวัด ในจังหวัดหนึ่งจะมีศาลแขวงกี่ศาล และมีเขตอำนาจเพียงใด และจะเปิดทำการได้เมื่อใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
              
ศาลแขวงที่ได้ตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้คงมีอยู่ต่อไป และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
              
การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวง ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา

               มาตรา ๔  ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับในศาลแขวง แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่ระทบกระเทือนกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนและกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน

               มาตรา ๕  (ยกเลิก)

               มาตรา ๖  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗  ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
              
ในกรณีที่ไม่มีการจับแต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมกับสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหา แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
              
ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้
              
เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว
              
ผู้ต้องหาจะแต่งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยานก็ได้
               ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หากผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้
หลบหนีไป ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนต่อไปโดยเร็ว และถ้าการสอบสวนได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป โดยให้นำมาตรา ๑๔๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ระยะเวลาการขอผัดฟ้องตามมาตรานี้ได้สิ้นสุดลงในระหว่างที่ผู้ต้องหาหลบหนีและพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง พนักงานอัยการอาจขออนุญาตฟ้องคดีต่ออัยการสูงสุดตามมาตรา ๙ ไว้ก่อนก็ได้

               มาตรา ๗ ทวิ  ในกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนีจากการควบคุมหรือการขัง มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหลบหนีนั้นเข้าในกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗
               ในกรณีที่ได้มีการส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดียังศาลทหารหรือศาลคดีเด็กและ
เยาวชน หากปรากฏในภายหลังว่าผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลทหารหรือศาลคดีเด็กและเยาวชน ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารหรือตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน แล้วแต่กรณี และมีการส่งตัวผู้ต้องหามายังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในศาลแขวงต่อไปนั้น มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวหรือขังอยู่ตามกฎหมายดังกล่าวนั้นเข้าในกำหนดระยะเวลาดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๗

               มาตรา ๘  ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้นั้น การควบคุมตัวผู้ต้องหาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกว่ากำหนดเวลาดังกล่าวในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง มิได้
              
ถ้าผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี นำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลพร้อมกับการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องและขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ แต่ถ้าผู้ต้องหาป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่อาจนำมาศาลได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการขออนุญาตศาลรวมมาในคำขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาโดยมีพยานหลักฐานประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาลในเหตุที่ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหามาศาลได้ ในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้อง ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องนั้น
               ในกรณีที่ผู้ต้องหาตกอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
หลังจากที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลในโอกาสแรกที่จะส่งได้เพื่อขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง
              
คำขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาจะขอรวมมาในคำร้องขอผัดฟ้องก็ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามเดิมก็ได้ กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเกินกว่าเวลาที่กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้มิได้
              
ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่พนักงานสอบสวนได้สั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังตามมาตรา ๑๓๔ วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ และให้นำมาตรา ๗ วรรคสาม วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง แต่ถ้าการขอให้ออกหมายขังดังกล่าวกระทำภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาได้เท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง
              
บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระทั่งอำนาจของศาลที่จะสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราว

               มาตรา ๙  ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๗ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการผู้มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาค ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย ทั้งนี้ ให้พนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้อัยการสูงสุดทราบด้วย
              
การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของอัยการสูงสุด

               มาตรา ๑๐  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๑๑๐  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๒๑๑  ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการปล่อยผู้ต้องหา ปล่อยชั่วคราว ควบคุมไว้ หรือขอให้ศาลขัง แล้วแต่กรณี และจัดการหรือสั่งการให้เป็นไปตามนั้น
              
ในกรณีที่อธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน
              
บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา โดยอนุโลม

               มาตรา ๑๓๑๒  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๔๑๓  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๕๑๔  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๖๑๕  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๗๑๖  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๘๑๗  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๙  ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการ๑๘ จะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แต่ถ้าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นสมควร จะสั่งให้ฟ้องเป็นหนังสือก็ได้
              
การฟ้องด้วยวาจานั้น ให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
              
จำเลยจะให้การด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้
              
ในกรณีที่ฟ้องหรือให้การด้วยวาจา ให้ศาลบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐาน และให้คู่ความลงชื่อไว้
              
คำเบิกความของพยาน ให้ศาลบันทึกสารสำคัญโดยย่อ และให้พยานลงชื่อไว้

               มาตรา ๒๐๑๙  ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการหรือสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการในกรณีที่ผู้ต้องหามิได้ถูกควบคุมตัวเพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องทำการสอบสวน และให้ฟ้องด้วยวาจา ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่าจะให้การประการใด และถ้าผู้ต้องหายังให้การรับสารภาพ ให้ศาลบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ และทำคำพิพากษาในบันทึกฉบับเดียวกัน แล้วให้โจทก์จำเลยลงชื่อไว้ในบันทึกนั้น ถ้าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธให้ศาลสั่งให้พนักงานอัยการรับตัวผู้ต้องหาคืนเพื่อดำเนินการต่อไป

               มาตรา ๒๑  ให้ศาลแขวงดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว คำสั่งหรือคำพิพากษาจะกระทำด้วยวาจาก็ได้ แต่ให้ทำบันทึกไว้พอได้ใจความ

               มาตรา ๒๑ ทวิ๒๐  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๒๒๑  ในคดีอาญาห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
              
(๑) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก หรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
              
(๒) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
              
(๓) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้หรือ
              
(๔) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท

               มาตรา ๒๒ ทวิ๒๒  ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป

               มาตรา ๒๓๒๓  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๔๒๔  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๕๒๕  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๖๒๖  ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอัยการสูงสุด รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
               ให้ประธานศาลฎีกาและอัยการสูงสุดมีอำนาจออกข้อบังคับ และนายกรัฐมนตรี และ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน
              
กฎกระทรวงหรือข้อบังคับนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

บทเฉพาะกาล

               มาตรา ๒๗๒๗  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๘๒๘  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๙  คดีอาญาทั้งหลายซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การดำเนินคดีของพนักงานอัยการ หรือการพิจารณาของศาลก่อนวันใช้วิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้คงเป็นไปตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนนั้นจนกว่าจะถึงที่สุด

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
    จอมพล ป. พิบูลสงคราม
          นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในเวลานี้ ศาลแขวงยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด เป็นการสมควรที่จะได้จัดตั้งศาลแขวงขึ้นทุกจังหวัด เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังควรจะมีวิธีการสำหรับศาลแขวงเป็นพิเศษ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่นในกรณีปกติศาลแขวงเป็นผู้อนุญาตให้ออกหมายจับหรือหมายค้น และให้มีการแต่งตั้งราษฎรธรรมดาเป็นผู้พิพากษาสมทบประจำศาลแขวงเป็นต้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓๒๙

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ กำหนดว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแขวงก่อน จึงจะออกหมายจับหรือหมายค้นได้ ปรากฏว่าไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ และการออกหมายจับและหมายค้นก็เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยู่แล้วตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งการที่จะให้ศาลอนุญาตอีกชั้นหนึ่งในการออกหมายจับอาจเป็นผลให้ราษฎรผู้ถูกจับเสียสิทธิในการที่จะร้องต่อศาลให้ปล่อยเมื่อปรากฏว่าการจับได้กระทำไปโดยมิชอบซึ่งเป็นการไม่สมควรที่จะให้ราษฎรผู้ถูกจับเสียสิทธิเช่นนั้น นอกจากนั้นการที่พระราชบัญญัติดั่งกล่าวนี้บังคับให้ผู้ว่าคดียื่นฟ้องคดีอาญาเกินอำนาจศาลแขวงให้ศาลแขวงทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อน ทำให้คดีความล่าช้าและเสียเวลาแก่ประชาชนที่มาเป็นพยาน และบทบัญญัติว่าด้วยผู้พิพากษาสมทบก็ยังไม่เหมาะสมแก่การพิจารณาพิพากษาคดี จึงสมควรยกเลิกบทบัญญัติในเรื่องเหล่านี้เสีย อนึ่ง เนื่องจากวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวงมีข้อจำกัดมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริง จึงสมควรมีบทบัญญัติว่าด้วยการรับรองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงขึ้น เพื่อผ่อนคลายให้คดีที่มีเหตุสมควรอุทธรณ์ได้ ได้รับการพิจารณาจากศาลอุทธรณ์ด้วย

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗๓๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การดำเนินคดีอาญาในศาลแขวง ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้ว่าคดีของกรมตำรวจได้เป็นผู้ดำเนินคดีอยู่นั้น สมควรให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินคดีในศาลทั้งปวงอยู่แล้ว ประกอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีภาระในด้านการจับกุมปราบปรามอยู่มาก ไม่สมควรจะต้องให้มีหน้าที่ดำเนินคดีในศาลอีก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๒๓๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ลุล่วงไปโดยเหมาะสมรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรห้ามโจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง และเพิ่มจำนวนเงินโทษปรับที่ศาลลงในคดีที่เป็นข้อยกเว้นการต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๙๓๒

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงภายในกำหนดเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาถูกจับ ซึ่งทำให้การดำเนินคดีล่าช้าและผู้ต้องหาอาจถูกควบคุมตัวไว้นานเกินความจำเป็น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกำหนดให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ ซึ่งจะทำให้การสอบสวนดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๖๓๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนสำคัญหลายประการ และโดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้นำความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ สมควรแก้ไขบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงให้เป็นไปตามหลักการเดียวกันกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับปัจจุบันสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานอิสระมีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในบังคับบัญชาของประธานศาลฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ สมควรกำหนดให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี และอัยการสูงสุดรักษาการในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๘๓๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ซึ่งไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดและต้องขออนุญาตฟ้องจากอัยการสูงสุดมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้การพิจารณาอนุญาตฟ้องคดีล่าช้าและกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การอนุญาตฟ้องคดีดังกล่าวสะดวก รวดเร็ว และเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ เพื่อกำหนดให้พนักงานอัยการผู้มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาคซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย มีอำนาจอนุญาตให้ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงซึ่งไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๓/ตอนที่ ๗๘/หน้า ๑๐๓๙/๒ ตุลาคม ๒๔๙๙
               มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               มาตรา ๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               มาตรา ๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๖
               มาตรา ๗ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๖
               มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๐ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               ๑๐ มาตรา ๑๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               ๑๑ มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               ๑๒ มาตรา ๑๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๑๓ มาตรา ๑๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๑๔ มาตรา ๑๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๑๕ มาตรา ๑๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๑๖ มาตรา ๑๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๑๗ มาตรา ๑๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               ๑๘ คำว่า "พนักงานอัยการ" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               ๑๙ มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๖
               ๒๐ มาตรา ๒๑ ทวิ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               ๒๑ มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๒
               ๒๒ มาตรา ๒๒ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๒๓ มาตรา ๒๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๒๔ มาตรา ๒๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๒๕ มาตรา ๒๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๒๖ มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๖
               ๒๗ มาตรา ๒๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๗
               ๒๘ มาตรา ๒๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
               ๒๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗/ตอนที่ ๒๘/หน้า ๒๖๔/๕ เมษายน ๒๕๐๓
               ๓๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๑๗๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐/๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๗
               ๓๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๑๔๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๘ กันยายน ๒๕๓๒
               ๓๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๖๑ ก/หน้า ๑/๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
               ๓๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๓๐ ก/หน้า ๑๓/๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖
               ๓๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๘๖ ก/หน้า ๖๗/๘ กันยายน ๒๕๕๘