My Template

หมวด ๒/๑ หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. (มาตรา ๑๑/๑ - ๑๑/๗)

 

หมวด ๒/๑
หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส.
เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.

-------------------------

               มาตรา ๑๑/๑  เพื่อดําเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่และอํานาจดังต่อไปนี้
               (๑) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติด หรือมีบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
               (๒) ค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               (๓) ค้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               (๔) จับกุมบุคคลใด ๆ ที่กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๕) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่ได้รับมาจากการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
               (๖) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นกรณีเร่งด่วน ก่อนดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน แล้วรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายในเจ็ดวันเพื่อดำเนินการตาม (๗) ต่อไป
               (๗) ตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย แล้วแต่กรณี
               (๘) สอบสวนผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๙) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใด ๆ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการใด ๆ มาให้ถ้อยคําหรือให้ส่งบัญชี ข้อมูล เอกสาร หรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา
               การใช้อํานาจตามวรรคหนึ่ง (๑) ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ค้นปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนด และแสดงความบริสุทธิ์ก่อนการเข้าค้น รายงานเหตุผล และผลการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป และบันทึกเหตุอันควรสงสัยตามสมควรและเหตุอันควรเชื่อที่ทําให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองเคหสถาน หรือสถานที่ค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ค้นส่งมอบสําเนาหนังสือนั้นให้แก่ผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทําได้ และหากเป็นการเข้าค้นในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตก เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้เป็นหัวหน้าในการเข้าค้นต้องเป็นข้าราชการพลเรือนตําแหน่งประเภทบริหาร ตําแหน่งประเภทอํานวยการ ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับชํานาญการขึ้นไป ตําแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสขึ้นไป หรือข้าราชการตํารวจตําแหน่งตั้งแต่สารวัตรหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือข้าราชการทหารตําแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับกองร้อยหรือเทียบเท่าขึ้นไป
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตําแหน่งใดหรือระดับใดจะมีหน้าที่และอํานาจตามที่ได้กําหนดไว้ตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดําเนินการ ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกําหนดด้วยความเห็นขอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. โดยทําเอกสารมอบหมายให้ไว้ประจําตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายนั้น
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงเอกสารมอบหมายนั้นต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
               ในการปฏิบัติการตามมาตรานี้ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
               ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดทํารายงานผลการปฏิบัติตามมาตรานี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานประจําปี โดยให้รายงานข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรค ปริมาณการปฏิบัติงานตามงบประมาณและกองทุนประจําปี และผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานโดยละเอียด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานดังกล่าวพร้อมข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

               มาตรา ๑๑/๒  ในกรณีจําเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงานป.ป.ส. มีอํานาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่
               วิธีการตรวจหรือทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๓  ในกรณีที่มีการยึดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น ไม่ว่าจะมีการฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มีการตรวจพิสูจน์ชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดโดยบันทึกรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้และให้ดําเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) กรณีที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๓ หรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้
               (๒) กรณีที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือประเภท ๕ หรือสารระเหยที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้พนักงานสอบสวนทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้
               (๓) ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ยึดไว้ ให้สถานตรวจพิสูจน์คืนพนักงานสอบสวน
               การตรวจรับ การเก็บรักษา การทําลาย การนําไปใช้ประโยชน์ และการรายงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามมาตรา ๑๑/๑ หรือมาตรา ๑๑/๒ ถ้าเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ขอให้บุคคลใดช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ ให้บุคคลนั้นมีอํานาจช่วยการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้

               มาตรา ๑๑/๕  ในกรณีจําเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นหนังสือจะยื่นคําขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญา เพื่อมีคําสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
               การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิอื่นใด ประกอบกับเหตุผลและความจําเป็น ดังต่อไปนี้
               (๑) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิดหรือจะมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๒) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
               (๓) ไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดที่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าได้
               การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลสั่งอนุญาตได้คราวละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยกําหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ และให้ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารในสิ่งสื่อสารตามคําสั่งดังกล่าวจะต้องให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ภายหลังที่มีคําสั่งอนุญาต หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุผลความจําเป็นไม่เป็นไปตามที่ระบุหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอํานาจเปลี่ยนแปลงคําสั่งอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร
               เมื่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ดําเนินการตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้รายงานการดําเนินการให้ศาลทราบ
               บรรดาข้อมูลข่าวสารที่ได้มาตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาและใช้ประโยชน์ในการสืบสวนและใช้เป็นพยานหลักฐานในการดําเนินคดีเท่านั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๖  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๑๑/๑ ให้ถือว่ากรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอํานาจตามมาตรา ๑๑/๑ (๔) มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอํานาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๑/๑ (๔) ซึ่งกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดไว้เพื่อทําการสืบสวนสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกําหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดําเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าว เป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               การควบคุมผู้ถูกจับตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๗  การแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย เว้นแต่กรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสํานวนให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีแล้วพนักงานอัยการเห็นควรแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดเพิ่มเติม ให้พนักงานอัยการเป็นผู้อนุมัติให้แจ้งข้อหาเพื่อดําเนินคดีตามมาตรานี้ และเมื่อดําเนินการตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทราบทันที
               การขออนุมัติ การอนุมัติ และการรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง


               หมวด ๒/๑ หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มาตรา ๑๑/๑ ถึงมาตรา ๑๑/๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔