My Template

หมวด ๔ อุทธรณ์และฎีกา (มาตรา ๑๔ - ๒๐)

 

หมวด ๓
วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น

-------------------------

               มาตรา ๑๔  ให้จัดตั้งแผนกคดียาเสพติดขึ้นในศาลอุทธรณ์ โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๕  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
               เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือเมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์หรือคำร้องเช่นว่านั้นพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว

               มาตรา ๑๕/๑  ในกรณีที่ตามคําพิพากษาจําเลยต้องรับโทษจําคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจําเลยไม่ได้ถูกคุมขัง จําเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาอาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงตนของจําเลยก็ได้
               ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่จําเลยได้รับการรอการลงโทษจําคุก หรือรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาครบถ้วนแล้ว

               มาตรา ๑๖  คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๗  ในคดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน และกรรมใดกรรมหนึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หากมีการอุทธรณ์ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพร้อมความผิดอื่น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในความผิดอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย

               มาตรา ๑๘  ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๙ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด
               คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในการกระทำกรรมอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คู่ความอาจฎีกาได้ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๙  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้
               เมื่อมีคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ศาลฎีกาอาจพิจารณารับฎีกาในปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้วินิจฉัยก็ได้ หากเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย
               คดีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้วินิจฉัย ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์
               หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอ ตลอดจนการพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทั้งนี้ ในระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุเงื่อนเวลาของการสั่งไม่อนุญาตที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติตามมาตรา ๒๖๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               ระเบียบตามวรรคสี่ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๑๙/๑  ให้นําความในมาตรา ๑๕/๑ มาใช้บังคับกับการยื่นคําขออนุญาตฎีกาและการฎีกาโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๐  การอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร


               มาตรา ๑๕/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๙/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔