My Template

หมวด ๑/๑ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด (มาตรา ๗๙/๒ - ๗๙/๑๕)

 

หมวด ๑/๑
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด

-------------------------

               มาตรา ๗๙/๒  ในหมวดนี้
               “พิธีสารมาดริด” หมายความว่า พิธีสารที่เกี่ยวกับความตกลงมาดริดเรื่องการจดทะเบียนระหว่างประเทศของเครื่องหมาย ซึ่งได้รับรอง ณ กรุงมาดริด เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
               “คำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศ” หมายความว่า คำขอเพื่อการจดทะเบียนระหว่างประเทศสำหรับเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ที่ยื่นภายใต้พิธีสารมาดริด
               “สำนักระหว่างประเทศ” หมายความว่า สำนักระหว่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
               “สำนักงานต้นทาง” หมายความว่า สำนักงานที่รับคำขอจดทะเบียนหรือรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ใช้เป็นฐานในการยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศ

               มาตรา ๗๙/๓  การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในหมวดนี้ และให้นำบทบัญญัติในหมวด ๑ เครื่องหมายการค้า เว้นแต่มาตรา ๑๐ มาตรา ๔๐ วรรคสอง และมาตรา ๕๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๗๙/๔  ผู้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศในราชอาณาจักรต้องเป็นผู้ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนหรือเป็นผู้ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วในราชอาณาจักร และมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
               (๑) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือ
               (๒) มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือ
               (๓) มีสถานประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมและยังคงประกอบการอย่างจริงจังในประเทศไทย

               มาตรา ๗๙/๕  ผู้ซึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศในราชอาณาจักรมีสิทธิขอรับความคุ้มครองต่อภาคีอื่น และอาจขอรับความคุ้มครองเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนระหว่างประเทศแล้วก็ได้

               มาตรา ๗๙/๖  เมื่อได้รับแจ้งการขอจดทะเบียนระหว่างประเทศที่ระบุขอรับความคุ้มครองในราชอาณาจักรจากสำนักระหว่างประเทศแล้ว ให้ถือว่าเป็นคำขอจดทะเบียนในราชอาณาจักร และให้นายทะเบียนดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
               ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่งไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ หรือการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน และแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสำนักระหว่างประเทศภายในระยะเวลาและตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าอาจมีการคัดค้านเกินระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงตามวรรคสอง ให้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักระหว่างประเทศภายในระยะเวลาและตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรณีที่มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเนื่องจากการคัดค้านนั้น ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุแห่งการคัดค้านไปยังสำนักระหว่างประเทศภายในระยะเวลาและตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ในกรณีที่ไม่มีการแจ้งอย่างหนึ่งอย่างใดไปยังสำนักระหว่างประเทศตามวรรคสองหรือวรรคสาม ให้ถือว่านายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น โดยไม่ต้องประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๙
               เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักร

               มาตรา ๗๙/๗  เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดแล้ว ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศต่อสำนักงานต้นทางเป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เว้นแต่ในกรณีที่สำนักระหว่างประเทศได้รับคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศเกินระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ถือว่าวันที่สำนักระหว่างประเทศได้รับคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศเป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น
               การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้มีอายุสิบปีนับแต่วันที่จดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง และอาจต่ออายุได้ตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๗๙/๘  ในกรณีที่มีการระบุขอรับความคุ้มครองในราชอาณาจักรภายหลังจากที่สำนักระหว่างประเทศได้จดทะเบียนไว้แล้ว ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๙/๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้รับความคุ้มครองในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่สำนักระหว่างประเทศได้บันทึกการขอรับความคุ้มครองในทะเบียนระหว่างประเทศ และให้วันสิ้นอายุการจดทะเบียนเป็นวันเดียวกับวันสิ้นอายุในทะเบียนระหว่างประเทศนั้น และอาจต่ออายุได้ตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๗๙/๙  ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรเป็นเครื่องหมายเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนระหว่างประเทศซึ่งได้รับความคุ้มครองในราชอาณาจักรแล้ว และเป็นของเจ้าของเดียวกัน เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นอาจขอให้นายทะเบียนบันทึกว่าเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนระหว่างประเทศมีผลแทนเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรสำหรับสินค้าทั้งหมดหรือบางอย่างที่ตรงกันก็ได้
               บทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบถึงสิทธิที่ได้มาจากการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักรที่มีอยู่ก่อน

               มาตรา ๗๙/๑๐  ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ยื่นไว้ ณ สำนักงานต้นทางรวมถึงทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนตามคำขอดังกล่าว หรือทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ ณ สำนักงานต้นทาง ซึ่งใช้เป็นฐานในการยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศสำหรับเครื่องหมายการค้ารายใด ถูกถอนคืน ละทิ้ง ปฏิเสธ หรือเพิกถอน แล้วแต่กรณี สำหรับสินค้าทั้งหมดหรือบางอย่างภายในระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง และเมื่อได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนระหว่างประเทศสำหรับเครื่องหมายการค้านั้นจากสำนักระหว่างประเทศแล้ว ให้ถือว่าคำขอจดทะเบียนหรือทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ระบุขอรับความคุ้มครองในราชอาณาจักรถูกถอนคืน ละทิ้ง ปฏิเสธ หรือเพิกถอน แล้วแต่กรณี สำหรับสินค้าทั้งหมดหรือบางอย่างเช่นเดียวกัน ณ วันที่ทะเบียนระหว่างประเทศถูกเพิกถอน
               บทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการถอนคืน ละทิ้ง ปฏิเสธ หรือเพิกถอน ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง แต่ผลของการดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากระยะเวลานั้นสิ้นสุดแล้วด้วย
               ในกรณีที่ประเทศไทยเป็นสำนักงานต้นทาง เมื่อมีเหตุตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองให้นายทะเบียนแจ้งไปยังสำนักระหว่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๗๙/๑๑  ในกรณีที่ทะเบียนระหว่างประเทศสำหรับเครื่องหมายการค้าใดซึ่งระบุขอรับความคุ้มครองในราชอาณาจักรถูกเพิกถอนโดยสำนักระหว่างประเทศเนื่องจากเหตุตามมาตรา ๗๙/๑๐ เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ทะเบียนระหว่างประเทศถูกเพิกถอนอาจยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในราชอาณาจักรสำหรับสินค้าเดียวกันได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นการยื่นภายในระยะเวลาและตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ถือว่าวันที่จดทะเบียนระหว่างประเทศตามมาตรา ๗๙/๗ หรือวันที่บันทึกการขอรับความคุ้มครองภายหลังการจดทะเบียนระหว่างประเทศตามมาตรา ๗๙/๘ แล้วแต่กรณี เป็นวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนในราชอาณาจักร

               มาตรา ๗๙/๑๒  หนังสือเรียก หนังสือแจง หรือหนังสืออื่นใด ที่มีถึงผู้ขอจดทะเบียนระหว่างประเทศหรือเจ้าของทะเบียนระหว่างประเทศ ตัวแทน ผู้รับมอบอำนาจ หรือบุคคลอื่นใด เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่งไปยังสำนักระหว่างประเทศเพื่อแจ้งต่อไปให้บุคคลนั้นทราบ เวนแต่เป็นกรณีที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ การส่งหนังสือดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
               เมื่อได้ส่งตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคหนึ่ง และเวลาได้ล่วงพ้นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ถือว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งได้รับหนังสือนั้นแล้ว

               มาตรา ๗๙/๑๓  การขอและการจดทะเบียน การขอบันทึกการจดทะเบียนระหว่างประเทศแทนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักร การขอรับความคุ้มครอง การแกไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียน การอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน และการต่ออายุการจดทะเบียน รวมทั้งการดำเนินการอื่นใดภายใต้พิธีสารมาดริด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๗๙/๑๔  การออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๙/๖ มาตรา ๗๙/๗ มาตรา ๗๙/๑๐ มาตรา ๗๙/๑๑ มาตรา ๗๙/๑๒ และมาตรา ๗๙/๑๓ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับพิธีสารมาดริด
               ค่าดำเนินการในต่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศตามที่สำนักระหว่างประเทศกำหนด

               มาตรา ๗๙/๑๕  บทบัญญัติในหมวดนี้ให้ใช้บังคับโดยอนุโลมแก่เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม ที่ขอจดทะเบียนระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริดแล้วแต่กรณีด้วย


               หมวด ๑/๑ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด มาตรา ๗๙/๒ ถึงมาตรา ๗๙/๑๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙