My Template

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๔ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติต่าง ๆ จึงล้าสมัยและไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้เพียงพอ ประกอบทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายและได้รับความคุ้มครองในกฎหมายของต่างประเทศ หลายประเทศแล้ว ก็ยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย นอกจากนั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม เช่น มิได้กำหนดอำนาจหนาที่ของนายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ตลอดจนสิทธิของผู้ขอจดทะเบียนไว้ให้ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก สมควรปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓

               มาตรา ๒๗  บรรดาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายร่วม ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๒๘  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยที่นานาประเทศได้ทำความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและจัดตั้งองค์การการค้าโลกได้เสร็จสิ้นลงและมีผลใช้บังคับแล้ว ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกมีพันธกรณีที่จะต้องออกกฎหมายอนุวัติการให้สอดคล้องกับความตกลงดังกล่าว เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดลักษณะของเครื่องหมายและเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง การเก็บค่าธรรมเนียมในการโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า รวมทั้งเพิ่มเติมให้มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กับเพิ่มเติมอำนาจของนายทะเบียนในส่วนของการพิจารณาคำคัดค้าน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติมาตรา ๓๑ จะให้ใช้บังคับเมื่อใดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

               มาตรา ๓๕  ภายใต้บังคับมาตรา ๓๖ บรรดาคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดไว้แล้ว ให้การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด
               (๒) ในกรณีที่นายทะเบียนยังมิได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ให้การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
               การดำเนินการเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมสำหรับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด
               เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ที่มีคำสั่งให้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ที่มิได้มีคำสั่งให้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๓๖  ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนหลายรายต่างยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และนายทะเบียนมีคำสั่งแล้วว่าเครื่องหมายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน แต่ยังมิได้มีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนตกลงกันว่าจะให้รายหนึ่งรายใดเป็นผู้ขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายนั้นแต่ผู้เดียว ให้การดำเนินการเฉพาะในกรณีดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๓๗  คำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสำหรับเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้การดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งเพิกถอนและค่าธรรมเนียมในเรื่องดังกล่าวอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนการจดทะเบียน แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๓๘  บรรดากฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๓๙  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในระดับสากลได้มีการขยายขอบเขตการให้ความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายประเภทใหม่ ๆ ซึ่งบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ยังไม่ครอบคลุม ประกอบกับประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีแห่งพิธีสารที่เกี่ยวกับความตกลงมาดริดเรื่องการจดทะเบียนระหว่างประเทศของเครื่องหมาย (พิธีสารมาดริด) ซึ่งพิธีสารดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีการยื่นคำขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม ในประเทศภาคีแห่งพิธีสารมาดริด โดยการยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศเพียงครั้งเดียวเพื่อขอรับความคุ้มครองไปยังประเทศต่าง ๆ ที่เป็นภาคีแห่งพิธีสารมาดริดได้ สมควรขยายขอบเขตการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับพิธีสารมาดริดดังกล่าว นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีการนำหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วมาใช้ในลักษณะเป็นการหลอกลวงซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณชนและเจ้าของเครื่องหมายดังกล่าว สมควรกำหนดฐานความผิดและโทษทางอาญาสำหรับการกระทำดังกล่าว รวมทั้งสมควรปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการจดทะเบียนให้มีความชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น และปรับอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๒๙ ก/หน้า ๑๑/๑ เมษายน ๒๕๔๓
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๓๘ ก/หน้า ๒๓/๒๙ เมษายน ๒๕๕๙