My Template

หมวด ๙ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๖๒ - ๖๖)

 

หมวด ๙
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๖๒  นายจ้างผู้ใดไม่จัดให้ลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรา ๑๓ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ มาตรา ๔๔ วรรคสองหรือวรรคสาม หรือมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๖๓  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการการแพทย์หรือคณะอนุกรรมการที่สั่งตามมาตรา ๔๒ หรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๗ (๒) หรือไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๖๔  นายจ้างผู้ใดไม่จ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ โดยมิได้อุทธรณ์ตามมาตรา ๕๒ หรือไม่จ่ายเงินทดแทนตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการโดยมิได้นำคดีไปสู่ศาลตามมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๖๕  ผู้ใดเปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของนายจ้างอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยของนายจ้างจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผยซึ่งตนได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองแรงงาน หรือการสอบสวน หรือการพิจารณาคดี

               มาตรา ๖๖  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้เห็นว่าผู้กระทำความผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุก หรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบได้
              
(๑) เลขาธิการ สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
              
(๒) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น
               ในกรณีที่มีการสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนพบว่าบุคคลใดกระทำความผิดตาม
พระราชบัญญัตินี้ และบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้เลขาธิการหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่บุคคลนั้นแสดงความยินยอม การเปรียบเทียบหรือไม่ ให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าพนักงานตาม (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี
              
ในการเปรียบเทียบตามมาตรานี้ ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบต้องเปรียบเทียบปรับไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              
ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ให้ดำเนินคดีต่อไป


               มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๖๔ แก้ไข
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑