My Template

หมวด ๒ ผู้พิพากษาในศาลแรงงาน (มาตรา ๑๑ - ๒๔)

 

หมวด ๒
ผู้พิพากษาในศาลแรงงาน

-------------------------

               มาตรา ๑๑  ในศาลแรงงาน ให้มีผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบตามจำนวนที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการของแต่ละศาล โดยเฉพาะผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างให้มีจำนวนฝ่ายละเท่า ๆ กัน

               มาตรา ๑๒  พระมหากษัตริย์จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลแรงงานจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและเป็นผู้มีความรู้และความเข้าใจในปัญหาแรงงาน

               มาตรา ๑๓  ในศาลแรงงานกลางและศาลแรงงานภาค ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลละหนึ่งคน กับให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกาจะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษามากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนก็ได้
              
ในศาลแรงงานจังหวัด ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแรงงานจังหวัด ศาลละหนึ่งคน

               มาตรา ๑๔  พระมหากษัตริย์จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบจากบุคคลซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างโดย
              
(๑) ให้สมาคมนายจ้างกับรัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงานเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายตนต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔/๑ (๕) และ (๖) แล้วให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายสมาคมนายจ้างกับรัฐวิสาหกิจและฝ่ายสหภาพแรงงานให้ได้จำนวนไม่เกินสองเท่าของจำนวนที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดและเสนอบัญชีรายชื่อดังกล่าวต่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือในกรณีไม่มีสมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงาน ซึ่งจดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานไว้ในเขตศาลแรงงานใด หรือมีอยู่เป็นจำนวนน้อย นอกจากสมาคมนายจ้างกับรัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงาน ถ้ามี แล้วให้ที่ประชุมผู้แทนฝ่ายนายจ้างของสถานประกอบกิจการและที่ประชุมผู้แทนฝ่ายลูกจ้างของสถานประกอบกิจการซึ่งอยู่ในเขตศาลแรงงานนั้น แต่ละฝ่ายเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายตน และ
              
(๒) ให้กระทรวงแรงงาน หรือคณะกรรมการหรือองค์กรที่เกี่ยวกับแรงงานตามประกาศของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เสนอชื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างหรือผู้แทนฝ่ายลูกจ้างต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔/๑ (๗) และให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจัดให้มีการประชุมและเลือกกันเองของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างให้ได้จำนวนไม่เกินสองเท่าของจำนวนที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดและเสนอบัญชีรายชื่อดังกล่าวต่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
              
ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมกำหนด โดยคำนึงถึงการกระจายโอกาสให้แก่ตัวแทนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน ระเบียบดังกล่าวเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๑๔/๑  บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
              
(๑) มีสัญชาติไทย
              
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันที่ได้มีการเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างหรือผู้แทนฝ่ายลูกจ้างตามมาตรา ๑๔
              
(๓) มีภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำงานอยู่ในเขตศาลแรงงานนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันที่ได้มีการเสนอชื่อตามมาตรา ๑๔
               (๔) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เว้นแต่เคยเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงาน
              
(๕) ในวันที่ได้มีการเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างตามมาตรา ๑๔ นั้น ในกรณีที่สมาคมนายจ้างหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้เสนอ ต้องเป็นกรรมการสมาคมนายจ้างมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีและสมาคมนายจ้างนั้นได้จดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานในเขตศาลแรงงานนั้น หรือเป็นฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี แล้วแต่กรณี หรือในกรณีที่ที่ประชุมผู้แทนฝ่ายนายจ้างของสถานประกอบกิจการเป็นผู้เสนอ ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นเจ้าของสถานประกอบกิจการหรือลูกจ้างของสถานประกอบกิจการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ การลดค่าจ้าง หรือการเลิกจ้างและสถานประกอบกิจการดังกล่าวอยู่ในเขตศาลแรงงานนั้น
              
(๖) ในวันที่ได้มีการเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายลูกจ้างตามมาตรา ๑๔ นั้น ในกรณีที่สหภาพแรงงานเป็นผู้เสนอ ต้องเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีและสหภาพแรงงานนั้นได้จดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานในเขตศาลแรงงานนั้น หรือในกรณีที่ที่ประชุมผู้แทนฝ่ายลูกจ้างของสถานประกอบกิจการเป็นผู้เสนอ ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นลูกจ้างของสถานประกอบกิจการซึ่งอยู่ในเขตศาลแรงงานนั้น
              
(๗) ในวันที่ได้มีการเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างหรือผู้แทนฝ่ายลูกจ้างตามมาตรา ๑๔ นั้น ในกรณีที่กระทรวงแรงงานหรือคณะกรรมการหรือองค์กรที่เกี่ยวกับแรงงาน เป็นผู้เสอชื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างหรือผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติตาม (๕) หรือ (๖) แล้วแต่กรณี
              
(๘) เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
              
(๙) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน มีจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้พิพากษาสมทบ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
              
(๑๐) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
              
(๑๑) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีหรือพ้นระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดในการรอการลงโทษแล้ว
              
(๑๒) ไม่เคยต้องคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและศาลไม่ได้สั่งคืนทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
              
(๑๓) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง หรือทนายความ
              
(๑๔) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
              
(๑๕) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
              
(๑๖) ไม่เคยพ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบตามมาตรา ๑๕ (๖)

               มาตรา ๑๔/๒  ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ผู้พิพากษาสมทบจะต้องได้รับการอบรมความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับศาลแรงงาน อำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาสมทบและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการดำรงตนในฐานะเป็นผู้พิพากษาสมทบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด และจะต้องปฏิญาณตนต่อหน้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแรงงานจังหวัดซึ่งตนจะเข้าสังกัด แล้วแต่กรณี ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมโดยไม่ผูกพันตนว่าเป็นฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างและรักษาความลับในราชการ

               มาตรา ๑๔/๓  ผู้พิพากษาสมทบให้ดำรงตำแหน่งคราวละสามปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ต้องออกตามวาระไปแล้วให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกก็ได้
              
ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาสมทบ ให้ถือว่าวันที่มาปฏิบัติหน้าที่เป็นวันทำงานให้แก่นายจ้างของผู้พิพากษาสมทบนั้น และให้นายจ้างอำนวยความสะดวกตามสมควร

               มาตรา ๑๕  ผู้พิพากษาสมทบพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
               (๑) ออกตามวาระ
              
(๒) ตาย
              
(๓) ลาออก
              
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๔/๑
              
(๕) ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้จำคุก
              
(๖) ขาดการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดถึงสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
              
(๗) ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่การเป็นผู้พิพากษาสมทบ

               มาตรา ๑๕/๑  การพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) การพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
               (๒) การพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ (๑) (๒) (๖) หรือ (๗) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ
               (๓) การพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ (๓) (๔) หรือ (๕) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง

               มาตรา ๑๖  ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี หรือผู้ทำการแทนในตำแหน่งดังกล่าวกำหนดผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างที่จะต้องปฏิบัติการ โดยจะกำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างสำรองไว้ด้วยก็ได้

               มาตรา ๑๗  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๘ ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี

               มาตรา ๑๘  กระบวนพิจารณานอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ผู้พิพากษาของศาลแรงงานคนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำหรือออกคำสั่งใด ๆ ได้ โดยจะให้มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

               มาตรา ๑๙๑๐  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การคัดค้านผู้พิพากษาสมทบโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๐  ผู้พิพากษาสมทบที่นั่งพิจาณาคดีใดจะต้องพิจารณาคดีนั้นจนเสร็จ เว้นแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๑๖ จัดให้ผู้พิพากษาสมทบซึ่งได้กำหนดให้เป็นผู้สำรองไว้ ถ้ามี หรือผู้พิพากษาสมทบอื่นเข้าปฏิบัติการแทน

               มาตรา ๒๑  ผู้พิพากษาสมทบจะได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนอย่างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

               มาตรา ๒๒  ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบขึ้นใหม่ หรือมีการแต่งตั้งแล้วแต่ยังไม่ได้เข้ารับหน้าที่ ให้ผู้พิพากษาสมทบซึ่งออกไปตามวาระคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน
              
ผู้พิพากษาสมทบซึ่งจะต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งตนได้นั่งพิจารณาไว้ก่อนจนกว่าจะเสร็จคดีนั้น แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันครบกำหนดออกตามวาระ

               มาตรา ๒๓  ผู้พิพากษาสมทบเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๒๔  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัยสำหรับข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ มาใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาสมทบด้วย โดยอนุโลม


               มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๔/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๔/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๔/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๕ วรรคสอง ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๕/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๕
               ๑๐ มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐