หมวด ๒ การดำเนินกระบวนพิจารณา (ข้อ ๘ - ๔๙)

 

หมวด ๒
การดำเนินกระบวนพิจารณา

-------------------------

การยื่นฟ้อง

               ข้อ ๘  โจทก์หรือผู้ร้องอาจยื่นคำฟ้องหรือคำร้องเป็นหนังสือหรือแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อศาลก็ได้ ในกรณียื่นเป็นหนังสือให้ใช้แบบพิมพ์ของศาลยุติธรรมหรือจะใช้แบบพิมพ์ รง.๑ หรือ รง.๒ ท้ายข้อกำหนดนี้ก็ได้
              
ในกรณีที่โจทก์หรือผู้ร้องแจ้งความประสงค์ว่าจะแถลงข้อหาด้วยวาจา ให้ผู้พิพากษาแห่งศาลแรงงานที่มีเขตอำนาจออกนั่งฟังคำแถลงด้วยวาจา และสอบถามเพิ่มเติมตามที่จำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แล้วบันทึกรายการแห่งข้อหาไว้ในแบบพิมพ์ รง.๑ หรือ รง.๒
              
การดำเนินการตามวรรคสอง เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ผู้พิพากษาอาจจัดให้โจทก์หรือผู้ร้องทำคำฟ้องหรือคำร้องเป็นหนังสือ โดยให้นิติกรศาลแรงงานเป็นผู้แนะนำหรือร่างคำฟ้องหรือคำร้องให้ก็ได้
               ในกรณีคำฟ้องหรือคำร้องอ้างถึงเอกสารใดที่โจทก์หรือผู้ร้องจะอ้างเป็น
พยานหลักฐานในประเด็นแห่งคดีโดยเอกสารนั้นอยู่ในความครอบครองของผู้อ้าง ให้ผู้อ้างแนบสำเนาเอกสารดังกล่าวมาด้วย เว้นแต่ผู้อ้างไม่สามารถกระทำได้
              
สำเนาเอกสารตามวรรคสี่ ให้หมายความรวมถึงวัตถุที่ใช้บันทึกข้อมูลหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการเขียนและพิมพ์ด้วย

การยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัด

               ข้อ ๙  คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงานภาค ถ้าโจทก์หรือผู้ร้องประสงค์จะยื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลจังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตของศาลแรงงานภาค เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้พิพากษาแห่งศาลจังหวัดนั้นอาจจัดให้นิติกรหรือเจ้าพนักงานศาลแห่งศาลจังหวัดนั้นเป็นผู้แนะนำหรือร่างคำฟ้องหรือคำร้องให้ก็ได้

               ข้อ ๑๐  เมื่อโจทก์หรือผู้ร้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลจังหวัด ให้ผู้พิพากษาแห่งศาลจังหวัดรีบส่งคำฟ้องหรือคำร้องที่โจทก์หรือผู้ร้องนำมายื่นหรือรายการแห่งคำฟ้องหรือคำร้องที่บันทึกไว้ไปยังศาลแรงงานภาคที่คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว หากศาลแรงงานภาคสั่งรับไว้พิจารณาก็ให้แจ้งคำสั่งพร้อมวันนัดพิจารณาไปยังศาลจังหวัดโดยเร็ว
               การส่งคำฟ้องหรือคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลจังหวัดส่งตามวิธีการในข้อ ๕ แล้วจึง
ส่งต้นฉบับคำฟ้องหรือคำร้องไปยังศาลแรงงานภาคต่อไป

การฟ้องคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ

               ข้อ ๑๑  คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการอุทธรณ์หรือคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๔) หรือคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือคดีอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วให้โจทก์ฟ้องคณะกรรมการโดยตรงโดยไม่ต้องฟ้องกรรมการเป็นรายบุคคลก็ได้ ในกรณีนี้คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้กรรมการหรือบุคคลใดต่อสู้คดีแทนก็ได้

การฟ้องคดีของผู้เยาว์

               ข้อ ๑๒  ในกรณีที่ผู้เยาว์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือหรือมาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้เยาว์อาจยื่นคำร้องโดยอ้างเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๖ วรรคสี่ แนบมาพร้อมกับคำฟ้องเพื่อขออนุญาตยื่นฟ้องคดีแรงงานด้วยตนเองก็ได้

การกำหนดวันเวลาในการพิจารณา

               ข้อ ๑๓  เมื่อศาลสั่งรับคำฟ้องหรือคำร้องแล้ว ให้ผู้พิพากษากำหนดวันเวลาในการพิจารณาคดีนั้นโดยเร็ว แล้วแจ้งให้โจทก์หรือผู้ร้องทราบและสั่งให้มาศาลโดยใช้แบบพิมพ์ รง.๓ ท้ายข้อกำหนดนี้ กับให้ออกหมายเรียกจำเลยหรือแจ้งผู้คัดค้านให้มาศาลโดยใช้แบบพิมพ์ รง.๔ ท้ายข้อกำหนดนี้ ตามกำหนดวันเวลาดังกล่าว
              
ในกรณีที่โจทก์หรือผู้ร้องมาศาล ศาลจะสั่งให้โจทก์หรือผู้ร้องลงชื่อรับทราบกำหนดนัดแทนการส่งคำสั่งเรียกก็ได้
              
การกำหนดวันตามวรรคหนึ่ง ไม่ควรให้เกินสิบห้าวันนับแต่วันสั่งรับคดีไว้พิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจกำหนดให้เร็วกว่านั้นได้

               ข้อ ๑๔  เมื่อศาลสั่งรับคำฟ้องหรือคำร้องและกำหนดวันเวลาในการพิจารณาแล้ว ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดตัวผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบโดยเร็ว

               ข้อ ๑๕  ให้ผู้อำนวยการศาลเป็นผู้ออกหนังสือเชิญผู้พิพากษาสมทบมานั่งพิจารณาคดี ในกรณีรีบด่วนจะติดต่อเชิญทางโทรศัพท์หรือโดยวิธีอื่นตามวิธีการในข้อ ๕ ก็ได้
              
หากผู้พิพากษาสมทบคนใดที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดตัวให้มานั่งพิจารณาคดี มีความจำเป็นจะมาศาลไม่ได้ ให้ผู้อำนวยการติดต่อเชิญผู้พิพากษาสมทบซึ่งได้กำหนดสำรองไว้สำหรับคดีนั้น ถ้าไม่มีการกำหนดผู้พิพากษาสมทบสำรองไว้ ก็ให้รีบรายงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อกำหนดตัวผู้พิพากษาสมทบคนอื่นแทน

การยื่นคำให้การ

               ข้อ ๑๖  เมื่อจำเลยหรือผู้คัดค้านได้รับหมายเรียกให้มาศาล จำเลยหรือผู้คัดค้านจะยื่นคำให้การหรือคำคัดค้านเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลนัดให้มาศาลตามข้อ ๑๓ วรรคหนึ่ง ก็ได้
              
ในกรณีที่จำเลยหรือผู้คัดค้านประสงค์จะยื่นคำให้การหรือคำคัดค้านเป็นหนังสือ ให้ใช้แบบพิมพ์คำให้การของศาลยุติธรรม
              
เมื่อถึงวันที่ศาลนัดให้มาศาลตามข้อ ๑๓ วรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยหรือผู้คัดค้านยังไม่ได้ยื่นคำให้การหรือคำคัดค้านเป็นหนังสือ ให้ศาลสอบถามจำเลยหรือผู้คัดค้านว่าประสงค์จะยื่นคำให้การหรือคำคัดค้านหรือไม่ ถ้าจำเลยหรือผู้คัดค้านแจ้งความประสงค์ว่าจะให้การหรือคัดค้านด้วยวาจา ให้ศาลบันทึกคำให้การหรือคำคัดค้านด้วยวาจานั้นให้ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาหรือบันทึกในแบบพิมพ์คำให้การของศาลยุติธรรมก็ได้ หรือถ้าจำเลยหรือผู้คัดค้านประสงค์จะยื่นคำให้การหรือคำคัดค้านเป็นหนังสือ ก็ให้ยื่นโดยเร็ว แต่ถ้าจำเลยหรือผู้คัดค้านไม่ยอมให้การหรือไม่ประสงค์จะยื่นคำคัดค้าน ให้ศาลบันทึกไว้ให้ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา

               ข้อ ๑๗  ในกรณีที่จำเลยหรือผู้คัดค้านให้การต่อสู้ว่าไม่เข้าใจคำฟ้องหรือคำร้องในส่วนใด ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์หรือผู้ร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหรือคำร้องโดยอธิบายรายละเอียดในส่วนนั้นให้ชัดเจน และจำเลยหรือผู้คัดค้านมีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การหรือคำคัดค้านในส่วนคำฟ้องหรือคำร้องที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้
              
ในกรณีคำให้การหรือคำคัดค้านขัดกันหรือไม่ชัดแจ้ง ศาลอาจสอบถามจำเลยหรือผู้คัดค้านว่าจะให้การต่อสู้ไปในทางใด และบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาหรืออาจมีคำสั่งให้จำเลยหรือผู้คัดค้านทำคำให้การหรือคำคัดค้านมาใหม่ก็ได้
              
ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ใช้บังคับแก่ฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้งโดยอนุโลม

               ข้อ ๑๘  ในกรณีคำให้การหรือคำคัดค้านอ้างถึงเอกสารใดที่จำเลยหรือผู้คัดค้านประสงค์จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในประเด็นแห่งคดี โดยเอกสารนั้นอยู่ในความครอบครองของผู้อ้าง ให้ผู้อ้างแนบสำเนาเอกสารดังกล่าวมาด้วย เว้นแต่ผู้อ้างไม่สามารถกระทำได้
              
สำเนาเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงวัตถุที่ใช้บันทึกข้อมูลหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการเขียนและพิมพ์ด้วย

การแต่งตั้งผู้แทนในการดำเนินคดี

               ข้อ ๑๙  ในกรณีที่โจทก์หลายคนประสงค์จะฟ้องคดีหรือกำลังดำเนินคดีในศาลแรงงาน เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีความจำเป็นเนื่องจากโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลอาจกำหนดให้โจทก์เหล่านั้นแต่งตั้งโจทก์ด้วยกันคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้
              
จำนวนผู้แทนในการดำเนินคดี ให้ศาลฟังความเห็นของโจทก์เท่าที่มาศาลในวันนั้นและกำหนดจำนวนตามที่ศาลเห็นสมควร

               ข้อ ๒๐  วิธีการแต่งตั้งผู้แทนในการดำเนินคดี ให้ดำเนินการดังนี้
               (๑) ในกรณีที่มีการยื่นคำฟ้องหรือมาแถลงข้อหาด้วยวาจาและมีบันทึกแสดงการแต่งตั้งให้โจทก์คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนดำเนินคดีแทน โดยมีรายชื่อและลายมือชื่อโจทก์ทั้งหมด
แนบหรือแสดงต่อศาล โดยใช้แบบพิมพ์ รง.๕ ท้ายข้อกำหนดนี้หรือเอกสารอื่นใด หากศาลเชื่อว่าเป็นบันทึกแสดงการแต่งตั้งที่แท้จริงให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งตามบันทึกดังกล่าวเป็นผู้แทนในการดำเนินคดี หรือ
               (๒) ในกรณีที่มิได้ดำเนินการตาม (๑) ให้โจทก์ที่มาศาลตกลงเลือกระหว่างกันเอง หากไม่อาจตกลงกันได้ ศาลอาจกำหนดให้โจทก์ที่มาศาลในวันนั้นเลือกโดยการลงคะแนนเสียงหรือ
โดยวิธีอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้โจทก์ที่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนในการดำเนินคดี

               ข้อ ๒๑  เมื่อได้แต่งตั้งผู้แทนในการดำเนินคดีแล้ว หากต่อมาจำนวนโจทก์เพิ่มขึ้น ศาลอาจกำหนดให้โจทก์ที่เพิ่มขึ้นนั้นแต่งตั้งให้ผู้แทนในการดำเนินคดีที่ได้แต่งตั้งไว้เดิมเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีสำหรับโจทก์ที่เพิ่มขึ้นก็ได้
              
การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนโจทก์ไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้เปลี่ยนแปลงจำนวนผู้แทนในการดำเนินคดีที่ได้แต่งตั้งไว้ เว้นแต่จะมีพฤติการณ์พิเศษ

               ข้อ ๒๒  ผู้แทนในการดำเนินคดีมีอำนาจดำเนินการแทนโจทก์ทุกคนตั้งแต่เริ่มคดีหรือตั้งแต่ได้รับแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี และให้ถือว่าการกระทำของผู้แทนในการดำเนินคดีดังกล่าวผูกพันโจทก์ทุกคน
              
อำนาจของผู้แทนในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงการแต่งตั้งทนายความ การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์ หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีด้วย

               ข้อ ๒๓  โจทก์คนหนึ่งคนใดจะถอนผู้แทนในการดำเนินคดีที่ตนแต่งตั้งไว้ก็ได้ โดยแถลงต่อศาลและแจ้งให้ผู้แทนในการดำเนินคดีทราบ
              
ผู้แทนในการดำเนินคดีจะถอนตัวจากการเป็นตัวแทนในการดำเนินคดีของโจทก์คนใดก็ได้ เมื่อแจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์นั้นทราบและได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว

               ข้อ ๒๔  ในกรณีที่ผู้แทนในการดำเนินคดีบางคนตายหรือถอนตัวโดยได้รับอนุญาตจากศาล หากยังมีผู้แทนในการดำเนินคดีอื่นและสามารถดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ ศาลจะไม่จัดให้มีการแต่งตั้งผู้แทนในการดำเนินคดีแทนผู้นั้นก็ได้

               ข้อ ๒๕  ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ศาลอาจกำหนดให้จำเลยเหล่านั้นแต่งตั้งจำเลยด้วยกันคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้แทนในการดำเนินคดีก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำข้อ ๑๙ ถึงข้อ ๒๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดหรือศาลยุติธรรมอื่น

               ข้อ ๒๖  ในกรณีที่ศาลแรงงานจะต้องออกไปนั่งพิจารณาพิพากษา ณ สถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือสถานที่อื่นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๘ และสถานที่ที่จะออกไปนั่งพิจารณานั้นเป็นศาลแขวง หรือศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ให้ศาลแรงงานรีบแจ้งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนั้นทราบและจะขอความร่วมมือให้ศาลนั้นส่งคำสั่งหรือหมายเรียกถึงคู่ความแทนศาลแรงงานด้วยก็ได้

               ข้อ ๒๗  ในกรณีที่โจทก์หรือผู้ร้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลจังหวัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๔ หากศาลแรงงานภาคออกไปนั่งพิจารณาพิพากษา ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น ให้ศาลแรงงานภาคแจ้งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนั้นทราบกับขอความร่วมมือให้ศาลนั้นส่งคำสั่งถึงโจทก์หรือผู้ร้องและหมายเรียกถึงจำเลยหรือผู้คัดค้านแทนศาลแรงงานภาคด้วยก็ได้
              
กรณีที่ศาลแรงงานภาคเห็นว่าการออกไปนั่งพิจารณาพิพากษา ณ ศาลจังหวัดตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการสะดวก ศาลแรงงานภาคอาจสั่งให้มีการนั่งพิจารณา ณ ศาลแขวง หรือศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดที่โจทก์หรือผู้ร้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องก็ได้ ในกรณีนี้ให้ศาลแรงงานภาครีบแจ้งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนั้นทราบกับขอความร่วมมือให้ศาลนั้นส่งคำสั่งถึงโจทก์หรือผู้ร้องและหมายเรียกถึงจำเลยหรือผู้คัดค้านแทนศาลแรงงานภาคให้ด้วยก็ได้

การไกล่เกลี่ย

               ข้อ ๒๘  ในระหว่างการพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการประนีประนอมยอมความ ศาลแรงงานอาจสั่งให้คู่ความไปพบผู้ประนีประนอม หรือบุคคลอื่นตามที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแรงงานจังหวัดมอบหมายก็ได้

               ข้อ ๒๙  ในกรณีที่คู่ความตกลงกันได้ ให้นิติกรศาลแรงงานช่วยเหลือคู่ความในการจัดทำคำร้องขอถอนฟ้องหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ แล้วรีบนำเสนอศาลเพื่อพิจารณา
              
ในกรณีที่คู่ความตกลงกันไม่ได้ ให้รายงานให้ศาลทราบเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

การยื่นบัญชีระบุพยาน

               ข้อ ๓๐  คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยาน ให้ยื่นบัญชีระบุพยานซึ่งแสดงเอกสารหรือสภาพเอกสารที่อ้างอิง รายชื่อที่อยู่บุคคล วัตถุ หรือสถานที่ซึ่งคู่ความนั้นระบุอ้างเป็นพยานมาพร้อมกับคำฟ้อง คำร้อง หรือคำให้การ แล้วแต่กรณี
              
เมื่อถึงวันที่ศาลนัดให้มาศาลตามข้อ ๑๓ วรรคหนึ่ง ถ้าคู่ความฝ่ายใดยังไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก็ให้ยื่นบัญชีระบุพยานในวันนั้น หรือภายในกำหนดเจ็ดวันก็ได้
               คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต้องแสดงเหตุอันสมควรว่าตน
ไม่สามารถทราบว่าจะต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตน หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีสาเหตุอันสมควรอื่นใด คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำแถลงขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นพร้อมกับบัญชีระบุพยาน และสำเนาบัญชีระบุพยานต่อศาลได้ก่อนพิพากษาคดี ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญในประเด็นแห่งคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นก็ให้ศาลอนุญาตตามคำแถลง

การส่งเอกสารภาษาต่างประเทศ

               ข้อ ๓๑  ถ้าเอกสารที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ และคู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน และศาลเห็นว่ามิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี ศาลจะอนุญาตให้ส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องทำคำแปลก็ได้

การตรวจพยานหลักฐานและจดประเด็นข้อพิพาท

               ข้อ ๓๒  เมื่อศาลแรงงานได้พยายามไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว แต่คู่ความไม่อาจตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้ ถ้าคู่ความได้นำพยานหลักฐานทั้งหมดหรือบางส่วนมาศาลและพร้อมที่จะสืบพยานได้ในวันนัดพิจารณาก็ให้ศาลดำเนินการสืบพยานไปทันที เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้คัดค้านเสียก่อนเริ่มต้นสืบพยาน ในกรณีที่ไม่อาจสืบพยานได้ในวันนั้น ก็ให้ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไป
              
ในกรณีที่ไม่อาจสืบพยานตามวรรคหนึ่งได้ และศาลเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ หรือศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนสืบพยานก็ได้
              
ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ให้คู่ความนำพยานหลักฐานทั้งหมดยื่นต่อศาลเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสตรวจพยานหลักฐานดังกล่าว เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้น

               ข้อ ๓๓  ในการพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๔) หรือคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ซึ่งหน่วยงานหรือคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่าได้มีคำวินิจฉัย คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดโดยไม่มีอำนาจ นอกเหนืออำนาจหน้าที่ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น ไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม สร้างภาระแก่ผู้เกี่ยวข้องโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควร ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ หรือไม่ชอบในกรณีอื่นใด ศาลแรงงานอาจเรียกสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัยสั่งของหน่วยงานหรือคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่มาเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานก็ได้

               ข้อ ๓๔  ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน หากยังมีประเด็นที่ไม่อาจตกลงกันได้ ให้ศาลจดประเด็นข้อพิพาทโดยให้ศาลสอบถามคู่ความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความยกขึ้นเป็นข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่ได้เสนอไว้ในบัญชีระบุพยาน คู่ความต้องตอบคำถามดังกล่าวของศาล ถ้าคู่ความไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดหรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งในขณะนั้น ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้
              
ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความรับกันหรือถือว่ารับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อเท็จจริงใดที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่ยอมรับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความ ให้ศาลจดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้
              
ให้ศาลสอบถามคู่ความแต่ละฝ่ายถึงความสำคัญและความจำเป็นของพยานหลักฐานที่ประสงค์จะสืบว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีหรือไม่ เพียงใด หากพยานหลักฐานใดฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ให้ศาลงดสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น หากพยานหลักฐานใดเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี หรือศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องนำสืบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงแก่การพิจารณา ก็ให้ศาลสั่งให้คู่ความแต่ละฝ่ายนำพยานหลักฐานเหล่านั้นมาสืบภายในกำหนดนัดตามที่เห็นสมควร

               ข้อ ๓๕  เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการตรวจพยานหลักฐาน ศาลอาจนัดพร้อมคู่ความก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน โดยให้คู่ความนำพยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองและสามารถนำมาศาลได้ไปพบนิติกรศาลแรงงาน และให้นิติกรศาลแรงงานดำเนินการดังต่อไปนี้
              
(๑) ตรวจรับพยานหลักฐานที่คู่ความนำมายื่นหรือที่อยู่ในความครอบครองนำส่งตามคำสั่งศาล และจัดเตรียมพยานหลักฐานดังกล่าวตามลำดับก่อนหลังที่คู่ความประสงค์จะสืบพยาน
              
(๒) สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากคำฟ้องหรือคำร้อง คำให้การหรือคำคัดค้านและเอกสารอื่น ๆ ของคู่ความ รวมทั้งพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏในสำนวนคดี
              
(๓) สรุปประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ซึ่งประกอบด้วยประเด็นเกี่ยวกับอำนาจศาล ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดีแรงงาน ประเด็นที่เป็นเนื้อหาของคดี และความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

การสืบพยาน

               ข้อ ๓๖  การพิจารณาคดีในศาลแรงงาน ให้ศาลมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยานหลักฐานอื่นใดนอกเหนือจากพยาหลักฐานที่คู่ความอ้างอิงได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

               ข้อ ๓๗  ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้าง หรือพยานที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลเป็นผู้ซักถาม
              
คู่ความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล
               การถามพยานของคู่ความ ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรจะอนุญาตให้คู่ความใช้คำถาม
นำก็ได้

               ข้อ ๓๘  ในการที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลอาจมอบหมายให้นิติกรศาลแรงงานไปตรวจสอบสถานที่ บุคคลหรือสิ่งอื่นใดเพื่อประกอบการพิจารณาได้ โดยนิติกรต้องบันทึกการตรวจสอบ การให้ถ้อยคำของบุคคลหรือพยานในการตรวจสอบเสนอต่อศาลด้วย
               ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลแจ้งวัน เวลา และสถานที่ที่จะไปตรวจสอบ
ให้คู่ความทราบล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความมีสิทธิคัดค้านหรือโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าว โดยคู่ความจะไปร่วมตรวจสอบด้วยหรือไม่ก็ได้

               ข้อ ๓๙  ในการสืบพยานของศาล หากศาลเห็นว่าคดีใดมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลจะมีคำสั่งให้งดการสืบพยานเสียก็ได้

               ข้อ ๔๐  ก่อนที่ศาลแรงงานอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลอาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งรวมทั้งการเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ

               ข้อ ๔๑  ในการสืบพยานศาลจะออกคำสั่งให้มีการบันทึกเสียง ภาพ หรือเสียงและภาพ ตลอดเวลาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของการสืบพยานเพื่อเป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดีก็ได้

การบันทึกถ้อยคำพยานบุคคล

               ข้อ ๔๒  เพื่อความรวดเร็วในการสืบพยาน เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอ ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลใดที่ต้องมาเบิกความส่งบันทึกถ้อยคำพยานตามประเด็นที่ศาลกำหนด โดยให้ส่งต้นฉบับบันทึกถ้อยคำพยานต่อศาลและสำเนาแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวันก่อนวันสืบพยานบุคคลนั้น
              
บันทึกถ้อยคำพยานของพยานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้มีรายการดังต่อไปนี้
              
(๑) ชื่อศาลและเลขคดี
              
(๒) วันเดือนปี และสถานที่ที่ทำบันทึกถ้อยคำพยาน
              
(๓) ชื่อและชื่อสกุลของคู่ความ
              
(๔) ชื่อ ชื่อสกุล อายุ ที่อยู่และอาชีพของผู้ให้ถ้อยคำและความเกี่ยวพันกับคู่ความของผู้ให้ถ้อยคำ
              
(๕) รายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงของผู้ให้ถ้อยคำ
              
(๖) ลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำและคู่ความฝ่ายเสนอบันทึกถ้อยคำ
              
ในวันนัดสืบพยานบุคคลนั้น ให้พยานผู้ให้ถ้อยคำเบิกความตอบข้อซักถามของศาล
และของคู่ความตามที่ศาลอนุญาต ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่มาศาล หรือมาศาลแต่ไม่ยอมตอบข้อซักถามของศาล หรือของคู่ความตามที่ศาลอนุญาต ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำพยานผู้นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบและศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำพยานดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้
              
บันทึกถ้อยคำพยานที่ทำไว้ล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง เมื่อพยานเบิกความรับรองแล้วให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของพยาน และถือว่าได้อ่านคำเบิกความดังกล่าวให้พยานฟังแล้ว เมื่อมีการยื่นบันทึกถ้อยคำพยานต่อศาลแล้วคู่ความไม่อาจขอถอนบันทึกถ้อยคำพยานนั้นและให้ถือว่าบันทึกถ้อยคำพยานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีแล้ว

               ข้อ ๔๓  ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือในกรณีที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้นร้องขอและศาลอนุญาต ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลใดเสนอบันทึกถ้อยคำพยานหรือความเห็นต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนดแทนการมาเบิกความเป็นพยานต่อหน้าศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งศาลก็ได้ แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ให้ถ้อยคำที่จะมาศาลเพื่อให้การเพิ่มเติม
              
ให้ศาลส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำพยานตามวรรคหนึ่งให้คู่ความทราบ และหากคู่ความติดใจคัดค้านข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำพยานหรือความเห็น ก็ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาบันทึกถ้อยคำพยานดังกล่าว
              
ศาลอาจนัดให้พยานผู้ให้ถ้อยคำมาศาลเพื่อตอบข้อซักถามเพิ่มเติมของคู่ความ ในกรณีเช่นนี้ถ้าผู้ให้ถ้อยคำไม่มาศาล หรือมาศาลแต่ไม่ยอมตอบข้อซักถามของศาลหรือของคู่ความตามที่ศาลอนุญาตเพิ่มเติม ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำพยานของผู้นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบและศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำพยานดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นนั้นก็ได้
              
บันทึกถ้อยคำพยานตามวรรคหนึ่ง ให้มีรายการเช่นเดียวกับข้อ ๔๒ วรรคสอง

การบันทึกถ้อยคำพยานแทนการสืบพยานบุคคลของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ

               ข้อ ๔๔  เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำผู้ให้ถ้อยคำมาเบิกความเป็นพยานต่อหน้าศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ให้ถ้อยคำที่จะมาศาลเพื่อให้การเพิ่มเติม
              
สำหรับลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำ ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
              
บันทึกถ้อยคำพยานตามวรรคหนึ่ง ให้มีรายการเช่นเดียวกับข้อ ๔๒ วรรคสอง

การบันทึกความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญ

               ข้อ ๔๕  ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นอาจทำความเห็นเป็นหนังสือส่งต่อศาลโดยไม่มาเบิกความประกอบหนังสือนั้นก็ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
              
ให้ศาลส่งสำเนาความเห็นเป็นหนังสือแก่คู่ความทุกฝ่าย หากเป็นกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญจะต้องมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น ให้ศาลส่งสำเนาความเห็นเป็นหนังสือนั้นแก่คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันเบิกความ
              
กรณีที่ศาลขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาล ให้ทำเป็นหนังสือเชิญ
              
กรณีที่คู่ความขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มา ให้ศาลออกหมายเรียก

การสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ

               ข้อ ๔๖  เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจะอนุญาตให้ทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลหรืออยู่ในต่างประเทศ โดยระบบการประชุมทางจอภาพก็ได้
              
การสืบพยานหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่ากระทำในห้องพิจารณาของศาลแรงงาน
              
ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยาน เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ และไม่ให้ถือว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดี

               ข้อ ๔๗  การสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลหรืออยู่ในต่างประเทศตามข้อ ๔๖ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยแนวทางการสืบพยานหลักฐานและการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ พ.ศ. ๒๕๕๖ หมวด ๓ การสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ

การจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ

               ข้อ ๔๘  ให้ศาลแรงงานกำหนดค่าป่วยการของพยานที่ศาลเรียกมาตามรายได้และฐานะของพยาน แต่ไม่ให้เกินวันละห้าร้อยบาท กับค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของพยานที่เสียไปด้วยตามสมควร
              
ให้ศาลแรงงานกำหนดค่าป่วยการของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นโดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดี ความยากง่ายของงานที่ต้องทำและระยะเวลาที่ต้องเสียไปในการทำรายงาน ตลอดจนถึงฐานะทั่วไปของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่เกินวันละสองพันบาทกับค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่เสียไปด้วยตามสมควร
               การจ่ายเงินต้องมีหลักฐานตามระเบียบของทางราชการไว้เพื่อตรวจสอบ

               ข้อ ๔๙  ให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีจดแจ้งจำนวนค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน หรือผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญลงในแบบพิมพ์ รง.๖ ท้ายข้อกำหนดนี้ แล้วมอบให้บุคคลดังกล่าวนำไปขอรับเงินตามจำนวนที่ระบุจากผู้อำนวยการศาลหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของศาล