My Template

ส่วนที่ ๖ สิทธิไล่เบี้ยเพราะเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน (มาตรา ๙๕๙ - ๙๗๔)

 

ส่วนที่ ๖
สิทธิไล่เบี้ยเพราะเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน

-------------------------

               มาตรา ๙๕๙  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้ คือ
               ก) ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน
               ข) ไล่เบี้ยได้แม้ทั้งตั๋วเงินยังไม่ถึงกำหนดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
                    (๑) ถ้าเขาบอกปัดไม่รับรองตั๋วเงิน
                    (๒) ถ้าผู้จ่ายหากจะได้รับรองหรือไม่ก็ตาม ตกเป็นคนล้มละลาย หรือได้งดเว้นการใช้หนี้ แม้การงดเว้นใช้หนี้นั้นจะมิได้มีคำพิพากษาเป็นหลักฐานก็ตาม หรือถ้าผู้จ่ายถูกยึดทรัพย์และการยึดทรัพย์นั้นไร้ผล
                    (๓) ถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินชนิดไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใดรับรองนั้นตกเป็นคนล้มละลาย

               มาตรา ๙๖๐  การที่ตั๋วแลกเงินขาดรับรองหรือขาดใช้เงินนั้น ต้องทำให้เป็นหลักฐานตามแบบระเบียบด้วยเอกสารฉบับหนึ่ง เรียกว่าคำคัดค้าน
               คำคัดค้านการไม่ใช้เงินต้องทำในวันซึ่งจะพึงใช้เงินตามตั๋วนั้น หรือวันใดวันหนึ่งภายในสามวันต่อแต่นั้นไป
               คำคัดค้านการไม่รับรองต้องทำภายในจำกัดเวลาซึ่งกำหนดไว้เพื่อการยื่นตั๋วเงินให้เขารับรอง หรือภายในสามวันต่อแต่นั้นไป
               เมื่อมีคำคัดค้านการไม่รับรองขึ้นแล้วก็เป็นอันไม่ต้องยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และไม่ต้องทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงิน
               ในกรณีทั้งหลายซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา ๙๕๙ (ข) (๒) นั้น ท่านว่าผู้ทรงยังหาอาจจะใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ไม่ จนกว่าจะได้ยื่นตั๋วเงินให้ผู้จ่ายใช้เงิน และได้ทำคำคัดค้านขึ้นแล้ว
               ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา ๙๕๙ (ข) (๓) นั้น ท่านว่าถ้าเอาคำพิพากษาซึ่งสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายออกแสดง ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยได้

               มาตรา ๙๖๑  คำคัดค้านนั้นให้นายอำเภอ หรือผู้ทำการแทนนายอำเภอ หรือทนายความผู้ได้รับอนุญาตเพื่อการนี้เป็นผู้ทำ
               รัฐมนตรี*กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยการออกใบอนุญาตและการทำคำคัดค้าน รวมทั้งกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น

               มาตรา ๙๖๒  ในคำคัดค้านนั้นนอกจากชื่อ ตำแหน่ง และลายมือชื่อของผู้ทำ ต้องมีสำเนาตั๋วเงินกับรายการสลักหลังทั้งหมดตรงถ้อยตรงคำกับระบุความดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (๑) ชื่อ หรือยี่ห้อของบุคคลผู้คัดค้านและผู้ถูกคัดค้าน
               (๒) มูล หรือเหตุที่ต้องทำคำคัดค้านตั๋วเงิน การทวงถามและคำตอบ ถ้ามี หรือข้อที่ว่าหาตัวผู้จ่ายหรือผู้รับรองไม่พบ
               (๓) ถ้ามีการรับรอง หรือใช้เงินเพื่อแก้หน้า ให้แถลงลักษณะแห่งการเข้าแก้หน้าทั้งชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับรองหรือผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้าและชื่อบุคคลซึ่งเขาเข้าแก้หน้านั้นด้วย
               (๔) สถานที่และวันทำคำคัดค้าน
               ให้ผู้ทำคำคัดค้านส่งมอบคำคัดค้านแก่ผู้ร้องขอให้ทำ และให้ผู้ทำคำคัดค้านรีบส่งคำบอกกล่าวการคัดค้านนั้นไปยังผู้ถูกคัดค้าน ถ้าทราบภูมิลำเนาก็ให้ส่งโดยจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ หรือส่งมอบไว้ ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้นก็ได้ ถ้าไม่ทราบภูมิลำเนาก็ให้ปิดสำเนาคำคัดค้านไว้ยังที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่ว่าการอำเภอประจำท้องที่อันผู้ถูกคัดค้านมีถิ่นที่อยู่ครั้งหลังที่สุด

               มาตรา ๙๖๓  ผู้ทรงต้องให้คำบอกกล่าวการที่เขาไม่รับรองตั๋วแลกเงิน หรือไม่ใช้เงินนั้นไปยังผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไปกับทั้งผู้สั่งจ่ายด้วยภายในเวลาสี่วันต่อจากวันคัดค้าน หรือต่อจากวันยื่นตั๋วในกรณีที่มีข้อกำหนดว่า “ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน”
               ผู้สลักหลังทุก ๆ คนต้องให้คำบอกกล่าวไปยังผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไปภายในสองวัน ให้ทราบคำบอกกล่าวอันตนได้รับ จดแจ้งให้ทราบชื่อและสำนักของผู้ที่ได้ให้คำบอกกล่าวมาก่อน ๆ นั้นด้วย ทำเช่นนี้ติดต่อกันไปโดยลำดับจนกระทั่งถึงผู้สั่งจ่าย อนึ่งจำกัดเวลาซึ่งกล่าวมานั้น ท่านนับแต่เมื่อคนหนึ่ง ๆ ได้รับคำบอกกล่าวแต่คนก่อน
               ถ้าผู้สลักหลังคนหนึ่งคนใดมิได้ระบุสำนักของตนไว้ก็ดี หรือได้ระบุแต่อ่านไม่ได้ความก็ดี ท่านว่าสุดแต่คำบอกกล่าวได้ส่งไปยังผู้สลักหลังคนก่อนก็เป็นอันพอแล้ว
               บุคคลผู้จะต้องให้คำบอกกล่าว จะทำคำบอกกล่าวเป็นรูปอย่างใดก็ได้ทั้งสิ้น แม้เพียงแต่ด้วยส่งตั๋วแลกเงินคืนก็ใช้ได้ อนึ่งต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ส่งคำบอกกล่าวภายในเวลากำหนด
               ถ้าส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือจดทะเบียนไปรษณีย์ หากว่าหนังสือนั้นได้ส่งไปรษณีย์ภายในเวลากำหนดดังกล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวเป็นอันได้ส่งภายในจำกัดเวลาบังคับแล้ว
               บุคคลซึ่งมิได้ให้คำบอกกล่าวภายในจำกัดเวลาดังได้ว่ามานั้นหาเสียสิทธิไล่เบี้ยไม่ แต่จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ความประมาทเลินเล่อของตน แต่ท่านมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนในตั๋วแลกเงิน

               มาตรา ๙๖๔  ด้วยข้อกำหนดเขียนลงไว้ว่า “ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน” ก็ดี “ไม่มีคัดค้าน” ก็ดี หรือสำนวนอื่นใดทำนองนั้นก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจะยอมปลดเปลื้องผู้ทรงจากการทำคำคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินก็ได้ เพื่อตนจะได้ใช้สิทธิไล่เบี้ย
               ข้อกำหนดอันนี้ ย่อมไม่ปลดผู้ทรงให้พ้นจากหน้าที่นำตั๋วเงินยื่นภายในเวลากำหนด หรือจากหน้าที่ให้คำบอกกล่าวตั๋วเงินขาดความเชื่อถือแก่ผู้สลักหลังคนก่อนหรือผู้สั่งจ่าย อนึ่ง หน้าที่นำสืบว่าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกำหนดเวลาจำกัดนั้น ย่อมตกอยู่แก่บุคคลผู้แสวงจะใช้ความข้อนั้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงตั๋วแลกเงิน
               ข้อกำหนดอันนี้ ถ้าผู้สั่งจ่ายเป็นผู้เขียนลงไปแล้ว ย่อมเป็นผลตลอดถึงคู่สัญญาทั้งปวงบรรดาที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้น ถ้าและทั้งมีข้อกำหนดดังนี้แล้ว ผู้ทรงยังขืนทำคำคัดค้านไซร้ ท่านว่าผู้ทรงต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้น หากว่าข้อกำหนดนั้นผู้สลักหลังเป็นผู้เขียนลง และถ้ามีคำคัดค้านทำขึ้นไซร้ ท่านว่าค่าใช้จ่ายในการคัดค้านนั้นอาจจะเรียกเอาใช้ได้จากคู่สัญญาอื่น ๆ บรรดาที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้น

               มาตรา ๙๖๕  ในกรณีตั๋วเงินภายในประเทศ ถ้าผู้จ่ายบันทึกลงไว้ในตั๋วแลกเงินเป็นข้อความบอกปัดไม่รับรองหรือไม่ยอมใช้เงิน ทั้งลงวันที่บอกปัดลงลายมือชื่อไว้ด้วยแล้วท่านว่าคำคัดค้านนั้นก็เป็นอันไม่จำเป็นต้องทำ และผู้ทรงต้องส่งคำบอกกล่าวขาดความเชื่อถือไปยังบุคคลซึ่งตนจำนงจะไล่เบี้ยภายในสี่วันต่อจากวันเขาบอกปัดไม่รับรองนั้น

               มาตรา ๙๖๖  คำบอกกล่าวขาดความเชื่อถือในกรณีไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินนั้น ต้องมีรายการคือ วันที่ลงในตั๋วแลกเงิน ชื่อหรือยี่ห้อของผู้สั่งจ่ายและของผู้จ่าย จำนวนเงินในตั๋วเงิน วันถึงกำหนดใช้เงิน ชื่อหรือยี่ห้อและสำนักของผู้ทรงตั๋วเงิน วันที่คัดค้านหรือวันที่บอกปัดไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน กับข้อความว่าเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น

               มาตรา ๙๖๗  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง
               ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัวหรือรวมกันก็ได้ โดยมิพักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน
               สิทธิเช่นเดียวกันนี้ ย่อมมีแก่บุคคลทุกคนซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินและเข้าถือเอาตั๋วเงินนั้น ในการที่จะใช้บังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตน
               การว่ากล่าวเอาความแก่คู่สัญญาคนหนึ่ง ซึ่งต้องรับผิดย่อมไม่ตัดหนทางที่จะว่ากล่าวเอาความแก่คู่สัญญาคนอื่น ๆ แม้ทั้งจะเป็นฝ่ายอยู่ในลำดับภายหลังบุคคลที่ได้ว่ากล่าวเอาความมาก่อน

               มาตรา ๙๖๘  ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้นก็ได้ คือ
               (๑) จำนวนเงินในตั๋วแลกเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วย หากว่ามีข้อกำหนดไว้ว่าให้คิดดอกเบี้ย
               (๒) ดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันถึงกำหนด
               (๓) ค่าใช้จ่ายในการคัดค้าน และในการส่งคำบอกกล่าวของผู้ทรงไปยังผู้สลักหลังถัดจากตนขึ้นไปและผู้สั่งจ่าย กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
               (๔) ค่าชักส่วนลดซึ่งถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ ท่านให้คิดร้อยละ ๑/๖ ในต้นเงินอันจะพึงใช้ตามตั๋วเงิน และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ท่านมิให้คิดสูงกว่าอัตรานี้
               ถ้าใช้สิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนด ท่านให้หักลดจำนวนเงินในตั๋วเงินลงให้ร้อยละห้า

               มาตรา ๙๖๙  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งเข้าถือเอาและใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน อาจจะเรียกเอาเงินใช้จากคู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดต่อตนได้ คือ
               (๑) เงินเต็มจำนวนซึ่งตนได้ใช้ไป
               (๒) ดอกเบี้ยในจำนวนเงินนั้น คิดอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ได้ใช้เงินไป
               (๓) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อันตนต้องออกไป
               (๔) ค่าชักส่วนลดจากต้นเงินจำนวนในตั๋วแลกเงินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๖๘ อนุมาตรา (๔)

               มาตรา ๙๗๐  คู่สัญญาทุกฝ่ายซึ่งต้องรับผิดและถูกไล่เบี้ย หรืออยู่ในฐานะจะถูกไล่เบี้ยได้นั้น อาจจะใช้เงินแล้วเรียกให้เขาสละตั๋วเงินให้แก่ตนได้ รวมทั้งคำคัดค้านและบัญชีรับเงินด้วย
               ผู้สลักหลังทุกคนซึ่งเข้าถือเอาและใช้เงินตามตั๋วแลกเงินแล้ว จะขีดฆ่าคำสลักหลังของตนเองและของเหล่าผู้สลักหลังภายหลังตนนั้นเสียก็ได้

               มาตรา ๙๗๑  ผู้สั่งจ่ายก็ดี ผู้รับรองก็ดี ผู้สลักหลังคนก่อนก็ดี ซึ่งเขาสลักหลังหรือโอนตั๋วแลกเงินให้อีกทอดหนึ่งนั้น หามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนย่อมต้องรับผิดต่อเขาอยู่ก่อนแล้วตามตั๋วเงินนั้นได้ไม่

               มาตรา ๙๗๒  ในกรณีใช้สิทธิไล่เบี้ยภายหลังการรับรองแต่บางส่วน ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายซึ่งใช้เงินอันเป็นจำนวนเขาไม่รับรองนั้น อาจจะเรียกให้จดระบุความที่ใช้เงินนี้ลงไว้ในตั๋วเงิน และเรียกให้ทำใบรับให้แก่ตนได้ อนึ่งผู้ทรงตั๋วเงินต้องให้สำเนาตั๋วเงินอันรับรองว่าถูกต้องแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้นพร้อมทั้งคำคัดค้านด้วย เพื่อให้เขาสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยในภายหลังได้สืบไป

               มาตรา ๙๗๓  เมื่อกำหนดเวลาจำกัดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ได้ล่วงพ้นไปแล้ว คือ
               (๑) กำหนดเวลาสำหรับยื่นตั๋วแลกเงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น หรือในระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งภายหลังได้เห็น
               (๒) กำหนดเวลาสำหรับทำคำคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงิน
               (๓) กำหนดเวลาสำหรับยื่นตั๋วเพื่อให้ใช้เงิน ในกรณีที่มีข้อกำหนดว่า “ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน”
               ท่านว่าผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่เหล่าผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และคู่สัญญาอื่น ๆ ผู้ต้องรับผิด เว้นแต่ผู้รับรอง
               อนึ่ง ถ้าไม่ยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองภายในเวลาจำกัดดังผู้สั่งจ่ายได้กำหนดไว้ ท่านว่าผู้ทรงย่อมเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยทั้งเพื่อการที่เขาไม่ใช้เงิน และเพื่อการที่เขาไม่รับรอง เว้นแต่จะปรากฏจากข้อกำหนดว่า ผู้สั่งจ่ายหมายเพียงแต่จะปลดตนเองให้พ้นจากประกันการรับรอง
               ถ้าข้อกำหนดจำกัดเวลายื่นตั๋วแลกเงินนั้นมีอยู่ที่คำสลักหลัง ท่านว่าเฉพาะแต่ผู้สลักหลังเท่านั้นจะอาจเอาประโยชน์ในข้อกำหนดนั้นได้

               มาตรา ๙๗๔  การยื่นตั๋วแลกเงินก็ดี การทำคำคัดค้านก็ดี ถ้ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้มาขัดขวางมิให้ทำได้ภายในกำหนดเวลาจำกัดสำหรับการนั้นไซร้ ท่านให้ยืดกำหนดเวลาออกไปอีกได้
               เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ดังว่ามานั้น ผู้ทรงต้องบอกกล่าวแก่ผู้สลักหลังคนถัดตนขึ้นไปโดยไม่ชักช้า และคำบอกกล่าวนั้นต้องเขียนระบุลงในตั๋วเงิน หรือใบประจำต่อต้องลงวันและลงลายมือชื่อของผู้ทรง การอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวนี้ ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา ๙๖๓
               เมื่อเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้นสุดสิ้นลงแล้ว ผู้ทรงต้องยื่นตั๋วเงินให้เขารับรองหรือใช้เงินโดยไม่ชักช้า และถ้าจำเป็นก็ทำคำคัดค้านขึ้น
               ถ้าเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้น ยังคงมีอยู่ต่อไปจนเป็นเวลากว่าสามสิบวันภายหลังตั๋วเงินถึงกำหนดไซร้ ท่านว่าจะใช้สิทธิไล่เบี้ยก็ได้ และถ้าเช่นนั้นการยื่นตั๋วเงินก็ดี การทำคำคัดค้านก็ดี เป็นอันไม่จำเป็นต้องทำ
               ในส่วนตั๋วเงินชนิดที่ให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น หรือให้ใช้เงินในระยะเวลาอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังได้เห็นนั้น กำหนดสามสิบวันเช่นว่ามานี้ ท่านให้นับแต่วันที่ผู้ทรงได้ให้คำบอกกล่าวเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้นแก่ผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไป และถึงแม้ว่าจะเป็นการก่อนล่วงกำหนดเวลายื่นตั๋วเงิน ก็ให้นับเช่นนั้น