My Template

ส่วนที่ ๙ การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน (มาตรา ๑๒๓๘ - ๑๒๔๓)

 

ส่วนที่ ๙
การควบรวมบริษัทจำกัด

-------------------------

               มาตรา ๑๒๓๘  บริษัทจํากัดจะควบรวมกันได้ โดยใช้มติพิเศษ
               บริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไป จะควบรวมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
               (๑) ควบรวมกันโดยเป็นบริษัทขึ้นใหม่ และบริษัทที่มาควบรวมกันต่างหมดสภาพการเป็นนิติบุคคล
               (๒) ควบรวมกันโดยบริษัทหนึ่งบริษัทใดยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล และบริษัทอื่นที่ควบรวมกันหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล

               มาตรา ๑๒๓๙  มติพิเศษซึ่งวินิจฉัยให้ควบรวมบริษัทจํากัด บริษัทต้องนําไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับตั้งแต่วันลงมติ

               มาตรา ๑๒๓๙/๑  เมื่อมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัทแล้ว แต่มีผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมคัดค้านการควบรวมบริษัท บริษัทต้องจัดให้มีผู้ซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นดังกล่าวในราคาที่ตกลงกัน หรือในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ให้ใช้ราคาตามที่ผู้ประเมินราคาเป็นผู้กําหนด ถ้าผู้ถือหุ้นนั้นไม่ยอมขายภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับคําเสนอขอซื้อ ให้บริษัทดําเนินการควบรวมบริษัทต่อไปได้ และให้ถือว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวนั้นเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ควบรวม
               การแต่งตั้งผู้ประเมินราคาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๑๒๔๐  เมื่อมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัทแล้ว บริษัทต้องมีหนังสือบอกกล่าวมติดังกล่าวภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีมติไปยังเจ้าหนี้ของบริษัทตามรายชื่อที่ปรากฏในบัญชีของบริษัท ณ วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ควบรวมบริษัทโดยกําหนดเวลาให้ส่งคําคัดค้านภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวมตินั้น และให้บริษัทโฆษณามตินั้นทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายภายในกําหนดเวลาสิบสี่วันนั้นด้วย
               ถ้ามีการคัดค้าน บริษัทจะควบรวมมิได้จนกว่าจะได้ชําระหนี้หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว

               มาตรา ๑๒๔๐/๑  เมื่อได้ดําเนินการตามมาตรา ๑๒๓๙ และมาตรา ๑๒๔๐ แล้ว ให้กรรมการบริษัทที่จะควบรวมเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ๆ ให้มาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อของบริษัทที่ควบรวม โดยจะใช้ชื่อใหม่หรือจะใช้ชื่อเดิมของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่จะควบรวมก็ได้
               (๒) วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ควบรวม
               (๓) ทุนเรือนหุ้นของบริษัทที่ควบรวม โดยจะต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่น้อยกว่าทุนเรือนหุ้นของบริษัทเดิมอันมาควบรวม
               (๔) จัดสรรหุ้นของบริษัทที่ควบรวมให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ มิให้นํามาตรา ๑๒๒๒ มาใช้บังคับ
               (๕) หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทที่ควบรวม
               (๖) ข้อบังคับของบริษัทที่ควบรวม
               (๗) เลือกตั้งกรรมการบริษัทที่ควบรวม
               (๘) เลือกตั้งผู้สอบบัญชีบริษัทที่ควบรวม
               (๙) เรื่องอื่น ๆ ที่จําเป็นในการควบรวมบริษัท ถ้าหากมี
               ทั้งนี้ต้องดําเนินการประชุมให้เสร็จสิ้นภายในหกเดือนนับแต่วันที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ลงมติให้ควบรวมเป็นรายหลังสุด เว้นแต่ที่ประชุมตามมาตรานี้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปแต่เมื่อรวมเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหนึ่งปี

               มาตรา ๑๒๔๐/๒  ในการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ร่วมกันตามมาตรา ๑๒๔๐/๑ ให้ประชุมในท้องที่อันเป็นที่ตั้งสํานักงานแห่งใหญ่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่จะควบรวม หรือในจังหวัดที่ใกล้เคียงที่ตั้งของสํานักงานแห่งใหญ่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่จะควบรวม โดย
               (๑) ต้องมีผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนหุ้นทั้งหมดของแต่ละบริษัทที่จะควบรวมมาประชุมจึงจะเป็นองค์ประชุม
               (๒) ให้ผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมเลือกผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเป็นประธาน
               (๓) การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมตาม (๑) เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๑๒๔๐/๓  คณะกรรมการบริษัทเดิมต้องส่งมอบกิจการ ทรัพย์สิน บัญชี เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ของบริษัทให้แก่คณะกรรมการบริษัทที่ควบรวมแล้วภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการประชุมตามมาตรา ๑๒๔๐/๑

               มาตรา ๑๒๔๑  คณะกรรมการบริษัทที่ควบรวมต้องขอจดทะเบียนการควบรวมบริษัทพร้อมกับยื่นหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับที่ที่ประชุมตามมาตรา ๑๒๔๐/๑ ได้อนุมัติแล้วต่อนายทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการประชุมตามมาตรา ๑๒๔๐/๑

               มาตรา ๑๒๔๒๑๐  เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบรวมบริษัทแล้ว ให้นายทะเบียนหมายเหตุไว้ในทะเบียน ดังนี้
               (๑) ในกรณีที่ควบรวมกันเป็นบริษัทขึ้นใหม่ ให้หมายเหตุว่าบริษัทเดิมที่ควบรวมกันนั้นหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล
               (๒) ในกรณีที่ควบรวมกันโดยมีบริษัทใดบริษัทหนึ่งยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล ให้หมายเหตุว่าบริษัทอื่นที่เหลือนั้นหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล

               มาตรา ๑๒๔๓๑๑  บริษัทที่ควบรวมนี้ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบ บรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบรวมนั้นทั้งสิ้น


               ชื่อส่วนที่ ๙ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๒๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๒๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๒๓๙/๑ เพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๒๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๒๔๐/๑ เพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๒๔๐/๒ เพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๒๔๐/๓ เพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               มาตรา ๑๒๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               ๑๐ มาตรา ๑๒๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
               ๑๑ มาตรา ๑๒๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕