My Template

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๙

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๘ วรรคสอง บัญญัติว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จำต้องแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๒๐ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มบทบัญญัติมาตรา ๑๔๔๕ ซึ่งให้ศาลมีอำนาจอนุญาตให้ชายและหญิงที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ทำการสมรสได้โดยบัญญัติให้ชายหญิงซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลทำการสมรสได้ก่อนอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส นอกจากนี้ได้พิจารณาเห็นว่า มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๕๐ และวรรคสองของมาตรา ๑๓๗ เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิสตรี สมควรยกเลิกเสีย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๒๘ วรรคสอง บัญญัติว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จำต้องแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๒๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งกำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่หนึ่งร้อยคน และมีบทบัญญัติควบคุมการเสนอขายหุ้นและหุ้นกู้ เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนถูกหลอกลวงแล้ว สมควรกำหนดห้ามมิให้บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีผู้ถือหุ้นถึงหนึ่งร้อยคนและเสนอขายหุ้น หรือหุ้นกู้ต่อประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ หมวด ๔ เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสมบูรณ์ของการหมั้นและผลของการหมั้น การคุ้มครองคู่สมรสที่วิกลจริต การจัดการสินสมรส การแยกสินสมรสและรวมสินสมรส การสมรสที่เป็นโมฆะ เหตุหย่า ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรในกรณีมีการหย่า บทสันนิษฐานความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร การฟ้องปฏิเสธความเป็นบุตร การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร การฟ้องให้รับเด็กเป็นบุตร อำนาจปกครอง การเป็นผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์ การจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ สิทธิหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ผู้ปกครอง และบุตรบุญธรรมนั้น ยังไม่สอดคล้องและไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๑ และบรรพ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและบทบัญญัติหลายประการล้าสมัย ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๓๕

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๒๑ ให้ยกเลิกการกำหนดอัตราส่วนการถือหุ้น และจำนวนผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด และเพื่อให้การแปรสภาพบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เป็นไปโดยความสมัครใจ ในกรณีที่บริษัทจำกัดประสงค์จะชี้ชวนให้ประชาชนร่วมลงทุน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องขายฝากมีบทบัญญัติยังไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้มีการเอาเปรียบผู้ขายฝากโดยการกำหนดสินไถ่ที่สูงเกินควร เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา รวมทั้งในกรณีที่ถึงกำหนดเวลาไถ่ผู้ซื้อฝากมักจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้มีการไถ่จนเป็นเหตุให้ผู้ขายฝากต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปโดยไม่ชอบธรรม นอกจากนี้ เห็นควรปรับปรุงระยะเวลาในการใช้สิทธิไถ่ในสัญญาขายฝากให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๔๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้บัญญัติให้หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินสะสม เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มให้ลูกจ้าง หรือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณี มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้าง โดยให้รวมความถึง สิทธิของเสมียน คนใช้ และคนงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๓ เดิมด้วย โดยกำหนดลำดับบุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับอยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากร ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และจำนวนเงินสูงสุดของบุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๔๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ประเภทของสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวนเงินในการกู้ยืมเงินที่ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ จำนวนเงินที่เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย อัตราค่าธรรมเนียมและค่าคัดสำเนาเอกสารตามที่ปรากฏในบทบัญญัติที่ว่าด้วยบริษัทจำกัด รวมถึงจำนวนเงินรางวัลหรือค่าธรรมเนียมที่บุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินหายต้องชำระให้แก่ผู้เก็บได้หรือแก่ส่วนราชการที่รับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๔๙๑๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัทของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีการลาออกของหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด และการลาออกของกรรมการบริษัทจำกัด กำหนดเวลาที่การลาออกมีผล ตลอดจนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนภายในกำหนดเวลา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในผลทางกฎหมาย และการนำผลทางกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวไปใช้อ้างอิง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๕๐๑๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่บทบัญญัติมาตรา ๑๔๔๕ มาตรา ๑๔๔๖ มาตรา ๑๔๔๗/๑ วรรคสาม มาตรา ๑๕๑๖ (๑) และมาตรา ๑๕๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทบัญญัติที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ สมควรแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และหลักการห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศที่เคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๕๐๑๒

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนซึ่งกำหนดให้สามารถก่อตั้งทรัสต์เพื่อเป็นเครื่องมืออีกประการหนึ่งที่จะทำให้ธุรกรรมในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขข้อติดขัดบางประการในการระดมทุนและในการประกอบธุรกิจในตลาดทุนได้ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๕๑๑๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางมาตราสร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่ประชาชนและก่อให้เกิดความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน และความล่าช้าต่อการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ นอกจากนี้ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวและเพื่อให้การดำเนินกิจการค้าในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนและบริษัทมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑๑๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการร้องต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้สามีภริยาอยู่ต่างหากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย การนับวันที่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา และการกลับมีอำนาจปกครองบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมนั้น ยังไม่สอดคล้องและไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพความเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗๑๕

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ในการที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้เท่านั้น โดยข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติปรากฏว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืม มักจะอาศัยอำนาจต่อรองที่สูงกว่าหรือความได้เปรียบในทางการเงินกำหนดข้อตกลงอันเป็นการยกเว้นสิทธิของผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือให้ค้ำประกันหรือผู้จำนองต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น กรณีจึงส่งผลให้ผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปไม่ได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งต้องกลายเป็นผู้ถูกฟ้องล้มละลายอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๘๑๖

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการค้ำประกันและจำนองเพื่อให้มีความเหมาะสมแก่การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน สมควรกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ รวมทั้งสามารถทำข้อตกลงล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ หากเป็นสถาบันการเงินหรือประกอบอาชีพค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๘๑๗

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจได้บัญญัติให้สามารถนำสิทธิเรียกร้องมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครอง จึงสมควรแก้ไขให้สิทธิตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเหนือสิทธิเรียกร้องที่นำมาเป็นหลักประกัน ตกไปเป็นของผู้รับโอนเมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นไปเช่นเดียวกับสิทธิจำนอง จำนำ หรือค้ำประกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๐๑๘

หมายเหตุ :- สืบเนื่องจากรายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกซึ่งปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๖ จาก ๑๙๐ ประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการประกอบธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรการเร่งรัดการดำเนินการการพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานและการบริการในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรายงานผลของธนาคารโลกแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นความยุ่งยากและซับซ้อนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รวมทั้งขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎ และระเบียบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่มีความสำคัญในกฎหมายบางฉบับอันจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่ออันดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในการประเมินของธนาคารโลกครั้งต่อไป รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มโอกาสในการเป็นแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๖๔๑๙

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่อัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานโดยมิได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยเกินสมควร สมควรปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและกำหนดวิธีการในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ พร้อมทั้งกำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้เหมาะสม ประกอบกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงเป็นภาระอย่างมากต่อลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งประชาชนทั่วไปและก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สมควรที่รัฐจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าวโดยเร่งด่วน จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๖๕๒๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท มีบทบัญญัติบางมาตราไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่เอื้อต่อการนําเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน และสร้างภาระโดยไม่จําเป็นแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการกําหนดจํานวนขั้นต่ำของผู้เริ่มก่อการและตั้งบริษัทจํากัดไว้สามคน และการไม่กําหนดระยะเวลาการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจํากัด สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อขจัดอุปสรรคดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจโดยเพิ่มหลักการควบรวมบริษัท จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕/ตอนที่ ๑๔๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๙๘/๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗/ตอนที่ ๑๘๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๖ กันยายน ๒๕๓๓
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๒/หน้า ๑/๘ เมษายน ๒๕๓๕

               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๓/หน้า ๕๖/๘ เมษายน ๒๕๓๕
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๑๘ ก/หน้า ๑/๙ เมษายน ๒๕๔๑
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๔๘ ก/หน้า ๑/๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๑
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๑๑๐ ก/หน้า ๑/๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

               ๑๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๑๗ ก/หน้า ๑/๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
               ๑๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๕๓ ก/หน้า ๑๔/๑๒ กันยายน ๒๕๕๐
               ๑๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๔๒/๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
               ๑๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๑๒/๓ มีนาคม ๒๕๕๑

               ๑๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๕ ก/หน้า ๕/๗ มีนาคม ๒๕๕๑
               ๑๕ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๗๗ ก/หน้า ๑๔/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
               ๑๖ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๖๓ ก/หน้า ๓๐/๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘
               ๑๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๐๔ ก/หน้า ๔๙/๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
               ๑๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๔๙/๔ เมษายน ๒๕๖๐
               ๑๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘/ตอนที่ ๒๖ ก/หน้า ๑/๑๐ เมษายน ๒๕๖๔
               ๒๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๙/ตอนที่ ๖๙ ก/หน้า ๑/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕