My Template

หมวด ๒ ว่าด้วยการมาศาลของพยานและการซักถามพยาน (มาตรา ๑๐๖ - ๑๒๑)

 

หมวด ๒
ว่าด้วยการมาศาลของพยานและการซักถามพยาน

-------------------------

               มาตรา ๑๐๖  ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถนำพยานของตนมาศาลได้เอง คู่ความฝ่ายนั้นอาจขอต่อศาลก่อนวันสืบพยานให้ออกหมายเรียกพยานนั้นมาศาลได้ โดยศาลอาจให้คู่ความฝ่ายนั้นแถลงถึงความเกี่ยวพันของพยานกับข้อเท็จจริงในคดีอันจำเป็นที่จะต้องออกหมายเรียกพยานดังกล่าวด้วยและต้องส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำแถลงของผู้ขอให้พยานรู้ล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน
               หมายเรียกพยานต้องมีข้อความดังนี้
               (๑) ชื่อและตำบลที่อยู่ของพยาน ชื่อคู่ความ ศาล และทนายความฝ่ายผู้ขอ
               (๒) สถานที่และวันเวลาซึ่งพยานจะต้องไป
               (๓) กำหนดโทษที่จะต้องรับในกรณีที่ไม่ไปตามหมายเรียกหรือเบิกความเท็จ
               ถ้าศาลเห็นว่าพยานจะไม่สามารถเบิกความได้โดยมิได้ตระเตรียม ศาลจะจดแจ้งข้อเท็จจริงซึ่งพยานอาจถูกซักถามลงไว้ในหมายเรียกด้วยก็ได้

               มาตรา ๑๐๖/๑  ห้ามมิให้ออกหมายเรียกพยานดังต่อไปนี้
               (๑) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ว่าในกรณีใด ๆ
               (๒) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา ไม่ว่าในกรณีใด ๆ
               (๓) ผู้ที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมาย
               ในกรณีตาม (๒) และ (๓) ให้ศาลหรือผู้พิพากษาที่รับมอบ หรือศาลที่ได้รับแต่งตั้งออกคำบอกกล่าวว่าจะสืบพยานนั้น ณ สถานที่และวันเวลาใดแทนการออกหมายเรียก โดยในกรณีตาม (๒) ให้ส่งไปยังพยาน ส่วนตาม (๓) ให้ส่งคำบอกกล่าวไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติว่าด้วยการนั้น หรือตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

               มาตรา ๑๐๗  ถ้าศาลเห็นว่าในการสืบสวนหาความจริงจำเป็นต้องไปสืบพยาน ณ สถานที่ซึ่งข้อเท็จจริงอันประสงค์จะให้พยานเบิกความนั้นได้เกิดขึ้น ให้ศาลหรือผู้พิพากษาที่รับมอบ หรือศาลที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อการนั้นส่งหมายเรียกไปยังพยานระบุสถานที่และวันเวลาที่จะไปสืบพยาน แล้วสืบพยานไปตามนั้น

               มาตรา ๑๐๘  พยานที่ได้รับหมายเรียกโดยชอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๖ และมาตรา ๑๐๗ นั้น จำต้องไป ณ สถานที่และตามวันเวลาที่กำหนดไว้ เว้นแต่มีเหตุเจ็บป่วยหรือมีข้อแก้ตัวอันจำเป็นอย่างอื่นโดยได้แจ้งเหตุนั้นให้ศาลทราบแล้ว และศาลเห็นว่าข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวนั้นฟังได้

               มาตรา ๑๐๙  เมื่อพยานคนใดได้เบิกความแล้ว ไม่ว่าพยานนั้นจะได้รับหมายเรียก หรือคู่ความนำมาเองก็ดี พยานนั้นย่อมหมดหน้าที่ ๆ จะอยู่ที่ศาลอีกต่อไป เว้นแต่ศาลจะได้สั่งให้พยานนั้นรอคอยอยู่ตามระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดไว้

               มาตรา ๑๑๐  ถ้าพยานคนใดที่คู่ความได้บอกกล่าวความจำนงจะอ้างอิงคำเบิกความของพยานโดยชอบแล้ว ไม่ไปศาลในวันกำหนดนับสืบพยานนั้น ศาลชอบที่จะดำเนินการพิจารณาต่อไป และชี้ขาดตัดสินคดีโดยไม่ต้องสืบพยานเช่นว่านั้นได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตราต่อไปนี้

               มาตรา ๑๑๑  เมื่อศาลเห็นว่าคำเบิกความของพยานที่ไม่มาศาลเป็นข้อสำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี
               (๑) แต่ศาลเห็นว่าข้ออ้างว่าพยานไม่สามารถมาศาลนั้นเป็นเพราะเหตุเจ็บป่วยของพยาน หรือพยานมีข้อแก้ตัวอันจำเป็นอย่างอื่นที่ฟังได้ ศาลจะเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีไปเพื่อให้พยานมาศาลหรือเพื่อสืบพยานนั้น ณ สถานที่และเวลาอันควรแก่พฤติการณ์ก็ได้ หรือ
               (๒) ศาลเห็นว่าพยานได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้ว จงใจไม่ไปยังศาลหรือไม่ไป ณ สถานที่และตามวันเวลาที่กำหนดไว้ หรือได้รับคำสั่งศาลให้รอคอยอยู่แล้วจงใจหลบเสีย ศาลจะเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีไปและออกหมายจับและเอาตัวพยานกักขังไว้จนกว่าพยานจะได้เบิกความตามวันที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ทั้งนี้ ไม่เป็นการลบล้างโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๑๑๒  ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่
               (๑) พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
               (๒) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ
               (๓) พระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา
               (๔) บุคคลซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบานหรือกล่าวคำปฏิญาณ

               มาตรา ๑๑๓  พยานทุกคนต้องเบิกความด้วยวาจาและห้ามไม่ให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หรือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ

               มาตรา ๑๑๔  ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมีอำนาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้
               แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคำพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคำเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคำเบิกความเช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคำเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้

               มาตรา ๑๑๕  พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือพระภิกษุและสามเณรในพุทธศาสนา แม้มาเป็นพยานจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใด ๆ ก็ได้ สำหรับบุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันตามกฎหมายจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใด ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้น ๆ ก็ได้

               มาตรา ๑๑๖  ในเบื้องต้นให้พยานตอบคำถามเรื่อง นาม อายุ ตำแหน่ง หรืออาชีพ ภูมิลำเนาและความเกี่ยวพันกับคู่ความ
               แล้วศาลอาจปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
               (๑) ศาลเป็นผู้ถามพยานเอง กล่าวคือ แจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริง ซึ่งต้องการสืบแล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้น ๆ โดยวิธีเล่าเรื่องตามลำพังหรือโดยวิธีตอบคำถามของศาล หรือ
               (๒) ให้คู่วามซักถาม และถามค้านพยานไปทีเดียว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราต่อไปนี้

               มาตรา ๑๑๗  คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตนและแสดงตนตามมาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ แล้ว หรือถ้าศาลเป็นผู้ซักถามพยานก่อน ก็ให้คู่ความซักถามได้ต่อเมื่อศาลได้ซักถามเสร็จแล้ว
               เมื่อคู่ความฝ่ายที่ต้องอ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้
               เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้
               เมื่อได้ถามติงพยานเสร็จแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดซักถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดได้รับอนุญาตให้ถามพยานได้ดังกล่าวนี้ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งย่อมถามค้านพยานได้อีกในข้อที่เกี่ยวกับคำถามนั้น
               คู่ความที่ระบุพยานคนใดไว้ จะไม่ติดใจสืบพยานคนนั้นก็ได้ ในเมื่อพยานคนนั้นยังมิได้เบิกความตามข้อถามของศาล หรือของคู่ความฝ่ายที่อ้าง แต่ถ้าพยานได้เริ่มเบิกความแล้วพยานอาจถูกถามค้านหรือถามติงได้
               ถ้าพยานเบิกความเป็นปรปักษ์แก่คู่ความฝ่ายที่อ้างตนมา คู่ความฝ่ายนั้นอาจขออนุญาตต่อศาลเพื่อซักถามพยานนั้นเสมือนหนึ่งพยานนั้นเป็นพยานซึ่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมา
               การซักถามพยานก็ดี การซักค้านพยานก็ดี การถามติงพยานก็ดี ถ้าคู่ความคนใดได้ตั้งทนายความไว้หลายคน ให้ทนายความคนเดียวเป็นผู้ถาม เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๑๑๘  ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะซักถามพยานก็ดี หรือถามติงพยานก็ดี ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามนำ เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล
               ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามติงพยาน ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คำถามอื่นใดนอกจากคำถามที่เกี่ยวกับคำพยานเบิกความตอบคำถามค้าน
               ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามไม่ให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถามพยานด้วย
               (๑) คำถามอันไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี
               (๒) คำถามที่อาจทำให้พยาน หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกต้องรับโทษทางอาญา หรือคำถามที่เป็นหมิ่นประมาทพยาน เว้นแต่คำถามเช่นว่านั้นเป็นข้อสาระสำคัญในอันที่จะชี้ขาดข้อพิพาท
               ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถามพยานฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งร้องคัดค้าน ศาลมีอำนาจที่จะชี้ขาดว่าควรให้ใช้คำถามนั้นหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ ถ้าคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องคัดค้านคำชี้ขาดของศาล ก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดไว้ในรายงานซึ่งคำถามและข้อคัดค้าน ส่วนเหตุที่คู่ความคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้นให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงาน หรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงเป็นหนังสือเพื่อรวมไว้ในสำนวน

               มาตรา ๑๑๙  ไม่ว่าเวลาใด ๆ ในระหว่างที่พยานเบิกความ หรือภายหลังที่พยานได้เบิกความแล้ว แต่ก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลมีอำนาจที่จะถามพยานด้วยคำถามใด ๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อให้คำเบิกความของพยานบริบูรณ์ หรือชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเพื่อสอบสวนถึงพฤติการณ์ที่ทำให้พยานเบิกความเช่นนั้น
               ถ้าพยานสองคนหรือกว่านั้นเบิกความขัดกัน ในข้อสำคัญแห่งประเด็น เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจเรียกพยานเหล่านั้นมาสอบถามปากคำพร้อมกันได้

               มาตรา ๑๒๐  ถ้าคู่ความฝ่ายใดอ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้าง หรือที่ศาลเรียกมาไม่ควรเชื่อฟัง โดยเหตุผลซึ่งศาลเห็นว่ามีมูล ศาลอาจยอมให้คู่ความฝ่ายนั้นนำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้แล้วแต่จะเห็นควร

               มาตรา ๑๒๐/๑  เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำร้องและคู่ความอีกฝ่ายไม่คัดค้าน และศาลเห็นสมควรศาลอาจอนุญาตให้คู่ความฝ่ายที่มีคำร้องเสนอบันทึกถ้อยคำทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำต่อศาลแทนการซักถามผู้ให้ถ้อยคำเป็นพยานต่อหน้าศาลได้
               คู่ความที่ประสงค์จะเสนอบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง จะต้องยื่นคำร้องแสดงความจำนงพร้อมเหตุผลต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน และให้ศาลพิจารณากำหนดระยะเวลาที่คู่ความจะต้องยื่นบันทึกถ้อยคำดังกล่าวต่อศาลและส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำนั้นให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันสืบพยานคนนั้น เมื่อมีการยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาลแล้วคู่ความที่ยื่นไม่อาจขอถอนบันทึกถ้อยคำนั้น บันทึกถ้อยคำนั้นเมื่อพยานเบิกความรับรองแล้วให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความตอบคำซักถาม
               ให้ผู้ให้ถ้อยคำมาศาลเพื่อเบิกความตอบคำซักถามเพิ่มเติม ตอบคำถามค้าน และคำถามติงของคู่ความหากผู้ให้ถ้อยคำไม่มาศาล ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำของผู้นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นหรือมีเหตุสุดวิสัยที่ผู้ให้ถ้อยคำไม่สามารถมาศาลได้ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จะรับฟังบันทึกถ้อยคำที่ผู้ให้ถ้อยคำมิได้มาศาลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้
               ในกรณีที่คู่ความตกลงกันให้ผู้ให้ถ้อยคำไม่ต้องมาศาล หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือไม่ติดใจถามค้าน ให้ศาลรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้

               มาตรา ๑๒๐/๒  เมื่อคู่ความมีคำร้องร่วมกันและศาลเห็นสมควร ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ให้ถ้อยคำที่จะมาศาลเพื่อให้การเพิ่มเติม
               สำหรับลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำให้นำมาตรา ๔๗ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๒๐/๓๑๐  บันทึกถ้อยคำตามมาตรา ๑๒๐/๑ และมาตรา ๑๒๐/๒ ให้มีรายการดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อศาลและเลขคดี
               (๒) วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำบันทึกถ้อยคำ
               (๓) ชื่อและสกุลของคู่ความ
               (๔) ชื่อ สกุล อายุ ที่อยู่ และอาชีพ ของผู้ให้ถ้อยคำ และความเกี่ยวพันกับคู่ความ
               (๕) รายละเอียดแห่งข้อเท็จจริง หรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำ
               (๖) ลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำและคู่ความฝ่ายผู้เสนอบันทึกถ้อยคำ
               ห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมบันทึกถ้อยคำที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อศาล เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย

               มาตรา ๑๒๐/๔๑๑  คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพได้ โดยคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่าย หากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจะอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้ โดยให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามข้อกำหนดแนวทางการสืบพยานของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาที่ออกตามมาตรา ๑๐๓/๓ รวมทั้งระบุวิธีการสืบพยาน สถานที่ และสักขีพยานในการสืบพยานตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาดังกล่าว และไม่ถือว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดี
               การเบิกความตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าพยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล

               มาตรา ๑๒๑  ในการนั่งพิจารณาทุกครั้ง เมื่อพยานคนใดเบิกความแล้ว ให้ศาลอ่านคำเบิกความนั้นให้พยานฟัง และให้พยานลงลายมือชื่อไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ และ ๕๐
               ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีที่มีการใช้บันทึกถ้อยคำแทนการเบิกความของพยานตามมาตรา ๑๒๐/๑ หรือมาตรา ๑๒๐/๒ หรือกรณีที่มีการสืบพยานโดยใช้ระบบการประชุมทางจอภาพตามมาตรา ๑๒๐/๔ หรือกรณีที่มีการบันทึกการเบิกความของพยานโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุซึ่งสามารถถ่ายทอดออกเป็นภาพหรือเสียงหรือโดยใช้วิธีการอื่นใดซึ่งคู่ความและพยานสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องของบันทึกการเบิกความนั้นได้ แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือพยานขอตรวจดูบันทึกการเบิกความของพยานนั้น ให้ศาลจัดให้มีการตรวจดูบันทึกการเบิกความนั้น๑๒


               มาตรา ๑๐๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๐๖/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
                มาตรา ๑๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๙
               มาตรา ๑๒๐/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               มาตรา ๑๒๐/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               ๑๐ มาตรา ๑๒๐/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               ๑๑ มาตรา ๑๒๐/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
               ๑๒ มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐