My Template

หมวด ๔ คณะกรรมการสิทธิบัตร (มาตรา ๖๖ - ๗๔)

 

หมวด ๔
คณะกรรมการสิทธิบัตร

-------------------------

               มาตรา ๖๖  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสิทธิบัตร” ประกอบด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์อีกไม่เกินสิบสองคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนไม่น้อยกว่าหกคน
               คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

               มาตรา ๖๗  การซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
               ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
               กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

               มาตรา ๖๘  กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก
               (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
               (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ
               (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

               มาตรา ๖๙  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
               การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
               กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

               มาตรา ๗๐  คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
               (๑) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้
               (๒) วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีเกี่ยวกับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๕ มาตรา ๖๕ ฉ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๔๕ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๗๒
               (๓) ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
               (๔) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

               มาตรา ๗๑  คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ และให้นำความในมาตรา ๖๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

               มาตรา ๗๒  ในกรณีที่มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๕ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๖๑ หรือมาตรา ๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๕ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๖๕ เบญจ หรือมาตรา ๖๕ ฉ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๕ มาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๐ ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตราดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดี ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีเป็นที่สุด
               การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้ามีคู่กรณีให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาอุทธรณ์ไปยังคู่กรณีด้วย

               มาตรา ๗๓  ในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของอธิบดี หรือพิจารณารายงานการสอบสวนของอธิบดีตามมาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๖๕ ฉ หรือรายงานของอธิบดีตามมาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๔๓ เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คณะกรรมการจะให้ผู้คัดค้าน หรือผู้โต้แย้ง หรือผู้ทรงสิทธิบัตร หรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้ขอให้ตรวจสอบอนุสิทธิบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรหรือตามอนุสิทธิบัตร แล้วแต่กรณี นำพยานหลักฐานมาแสดงหรือแถลงเพิ่มเติมก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๗๔  เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยหรือมีคำสั่งตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๖๕ ฉ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๗๒ แล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง พร้อมด้วยเหตุผลไปยังผู้อุทธรณ์และคู่กรณี หรือผู้ทรงสิทธิบัตร หรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือตามอนุสิทธิบัตร แล้วแต่กรณี คู่กรณีฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้น มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ถ้าไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด
               ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ศาลสั่งให้คณะกรรมการหรืออธิบดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายอื่น


               มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒