My Template

หมวด ๕ เบ็ดเตล็ด (มาตรา ๗๕ - ๘๐)

 

หมวด ๕
เบ็ดเตล็ด

-------------------------

               มาตรา ๗๕  ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งไม่มีสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ใช้คำว่า “สิทธิบัตรไทย” “อนุสิทธิบัตรไทย” หรืออักษร สบท. หรือ อสบท. หรืออักษรต่างประเทศที่มีความหมายเช่นเดียวกัน หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันให้ปรากฏที่ผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือในการโฆษณา การประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใด ๆ

               มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้บุคคลใดใช้คำว่า “รอรับสิทธิบัตร” หรือ “รอรับอนุสิทธิบัตร” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ให้ปรากฏที่ผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือในการโฆษณา การประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใด ๆ เว้นแต่เป็นผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำขอนั้น

               มาตรา ๗๗  ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรในกรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ฟ้องผู้ฝ่าฝืนสิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรของตนเป็นคดีแพ่ง หากผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่จำเลยผลิตมีลักษณะเช่นเดียวกันหรือคล้ายกันกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยได้ใช้กรรมวิธีของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร เว้นแต่จำเลยจะพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๗๗ ทวิ  ในกรณีที่มีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่ามีผู้กระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวระงับหรือละเว้นการกระทำดังกล่าวนั้นได้ การที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวไม่ตัดสิทธิผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรที่จะเรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๗๗ ตรี

               มาตรา ๗๗ ตรี  ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหายรวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรด้วย

               มาตรา ๗๗ จัตวา  บรรดาสินค้าที่อยู่ในครอบครองของผู้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามมาตรา ๓๖ หรือมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรอาจมีคำสั่งให้ทำลายสินค้าดังกล่าวหรือดำเนินการอย่างอื่นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำเอาสินค้าดังกล่าวออกจำหน่ายอีกก็ได้

               มาตรา ๗๗ เบญจ  บุคคลใดขอรับหรือร่วมขอรับทั้งสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างเดียวกันโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี ให้ถือว่าบุคคลนั้นขอรับอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้น

               มาตรา ๗๗ ฉ  ในกรณีบุคคลหลายคนต่างทำการประดิษฐ์อย่างเดียวกันโดยไม่ได้ร่วมกันและมีบุคคลฝ่ายหนึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แต่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร
               (๑) ให้บุคคลซึ่งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือคำขอรับอนุสิทธิบัตรไว้ก่อนเป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้น
               (๒) ถ้ามีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในวันเดียวกันกับการยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรและผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรทราบเพื่อให้ทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน และจะให้คำขอรับสิทธิบัตรหรือคำขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นคำขอสำหรับการประดิษฐ์นั้น ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้คู่กรณีนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตรและละทิ้งคำขอรับอนุสิทธิบัตร

               มาตรา ๗๗ สัตต  ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ หรือวันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ใด ผู้ขอรับอนุสิทธิบัตร ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร ผู้ขอรับสิทธิบัตร หรือผู้ทรงสิทธิบัตรผู้ใดเห็นว่าการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นอาจไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี เพราะการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกันกับของตนและตนได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรหรือยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้ในวันเดียวกันกับการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือการยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรดังกล่าวผู้นั้นมีสิทธิขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์นั้นได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี หรือไม่
               เมื่อได้รับคำขอให้ตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและทำรายงานการตรวจสอบเสนออธิบดี
               เมื่ออธิบดีพิจารณารายงานการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสองแล้วเห็นว่าการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นจะไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี เพราะการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกัน และวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือวันยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นวันเดียวกันกับวันยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรหรือวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรของผู้ขอให้ตรวจสอบ ให้อธิบดีแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร และผู้ขอให้ตรวจสอบทราบเพื่อให้ทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิร่วมกันในการประดิษฐ์นั้น

               มาตรา ๗๗ อัฏฐ๑๐  สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรใดได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี ให้ถือว่าสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์
               ความไม่สมบูรณ์ตามวรรคหนึ่ง บุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้
               ในกรณีการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๕ ตรี และได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นในวันเดียวกัน ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นหรือพนักงานอัยการอาจขอให้อธิบดีเรียกให้ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้นทำความตกลงกันว่าจะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือให้มีสิทธิร่วมกัน และต้องทำความตกลงกันว่าจะเลือกให้การประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าตกลงกันไม่ได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนด ให้ถือว่าผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ทรงอนุสิทธิบัตรมีสิทธิร่วมกันและให้ถือว่าการประดิษฐ์นั้นเป็นการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตร

               มาตรา ๗๘๑๑  สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือใบอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ใดสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้เจ้าของขอรับใบแทนสิทธิบัตร ใบแทนอนุสิทธิบัตร หรือใบแทนใบอนุญาตให้ใช้สิทธินั้นได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

               มาตรา ๗๙  บรรดาคำขอ คำคัดค้าน คำโต้แย้ง และคำอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้แบบพิมพ์และมีสำเนาตามที่อธิบดีกำหนด

               มาตรา ๘๐๑๒  บรรดาคำขอรับสิทธิบัตร คำขอรับอนุสิทธิบัตร การประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร คำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ คำคัดค้านการขอรับสิทธิบัตร คำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอจดทะเบียนรับโอนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอเปลี่ยนแปลงสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอต่ออายุอนุสิทธิบัตร คำขอบันทึกคำยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ใบอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร คำอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดี ใบแทนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ใบแทนใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ คำขออื่น ๆ การคัดสำเนาเอกสารและการรับรองสำเนาเอกสารให้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง


               มาตรา ๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๗ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๗ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๗ จัตวา แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๗ เบญจ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๗ ฉ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๗ สัตต เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๐ มาตรา ๗๗ อัฏฐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๑ มาตรา ๗๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๒ มาตรา ๘๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒