My Template

หมวด ๒ แบบพินัยกรรม (มาตรา ๑๖๕๕ - ๑๖๗๒)

 

หมวด ๒
แบบพินัยกรรม

-------------------------

               มาตรา ๑๖๕๕  พินัยกรรมนั้น จะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

               มาตรา ๑๖๕๖  พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
               การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้

               มาตรา ๑๖๕๗  พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
               การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้
               บทบัญญัติมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้

               มาตรา ๑๖๕๘  พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองก็ได้ กล่าวคือ
               (๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
               (๒) กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
               (๓) เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
               (๔) ข้อความที่กรมการอำเภอจดไว้นั้น ให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา ๑ ถึง ๓ ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
               การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และกรมการอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้

               มาตรา ๑๖๕๙  การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้น จะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ เมื่อมีการร้องขอเช่นนั้น

               มาตรา ๑๖๖๐  พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารลับก็ได้ กล่าวคือ
               (๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
               (๒) ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
               (๓) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอ และพยานอีกอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
               (๔) เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้กรมการอำเภอผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
               การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้

               มาตรา ๑๖๖๑  ถ้าบุคคลผู้เป็นทั้งใบ้และหูหนวกหรือผู้ที่พูดไม่ได้ มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็นแบบเอกสารลับ ให้ผู้นั้นเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรมต่อหน้ากรมการอำเภอและพยานซึ่งข้อความว่าพินัยกรรมที่ผนึกนั้นเป็นของตนแทนการให้ถ้อยคำดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖๖๐ (๓) และถ้าหากมีผู้เขียนก็ให้เขียนชื่อกับภูมิลำเนาของผู้เขียนพินัยกรรมนั้นไว้ด้วย
               ให้กรมการอำเภอจดลงไว้บนซองเป็นสำคัญว่า ผู้ทำพินัยกรรมได้ปฏิบัติตามข้อความในวรรคก่อนแล้ว แทนการจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม

               มาตรา ๑๖๖๒  พินัยกรรมซึ่งได้ทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับนั้น กรมการอำเภอจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมจะเรียกให้กรมการอำเภอส่งมอบพินัยกรรมนั้นแก่ตนในเวลาใด ๆ กรมการอำเภอจำต้องส่งมอบให้
               ถ้าพินัยกรรมนั้นทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมือง ก่อนส่งมอบพินัยกรรม ให้กรมการอำเภอคัดสำเนาพินัยกรรมไว้แล้วลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ สำเนาพินัยกรรมนั้นจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่

               มาตรา ๑๖๖๓  เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม บุคคลนั้นจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้
               เพื่อการนี้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
               พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย
               ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ หรือมิฉะนั้น จะให้เสมอกับการลงลายมือชื่อได้ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน

               มาตรา ๑๖๖๔  ความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรมซึ่งทำขึ้นตามมาตราก่อนนั้นย่อมสิ้นไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลาผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้

               มาตรา ๑๖๖๕  เมื่อผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐ จะให้เสมอกับลงลายมือชื่อได้ ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนในขณะนั้น

               มาตรา ๑๖๖๖  บทบัญญัติมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พยานผู้ที่จะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐

               มาตรา ๑๖๖๗  เมื่อคนในบังคับไทยจะทำพินัยกรรมในต่างประเทศ พินัยกรรมนั้นอาจทำตามแบบซึ่งกฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมบัญญัติไว้ หรือตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ก็ได้
               เมื่อทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ อำนาจและหน้าที่ของกรมการอำเภอตามมาตรา ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑, ๑๖๖๒, ๑๖๖๓ ให้ตกแก่บุคคลดังต่อไปนี้ คือ
               (๑) พนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายไทย กระทำการตามขอบอำนาจของตน หรือ
               (๒) พนักงานใด ๆ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายของต่างประเทศนั้น ๆ ที่จะรับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานได้

               มาตรา ๑๖๖๘  ผู้ทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อความในพินัยกรรมนั้นให้พยานทราบ เว้นแต่กฎหมายจะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๑๖๖๙  ในระหว่างเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหาร จะทำพินัยกรรมตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๘ มาตรา ๑๖๖๐ หรือมาตรา ๑๖๖๓ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านั้น ให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอ
               บทบัญญัติวรรคก่อนให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารทำพินัยกรรมในต่างประเทศในระหว่างที่ปฏิบัติการเพื่อประเทศในภาวะการรบหรือการสงครามในต่างประเทศโดยอนุโลม และในกรณีเช่นว่านี้ ให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย
               ถ้าผู้ทำพินัยกรรมตามความในสองวรรคก่อนนั้นป่วยเจ็บหรือต้องบาดเจ็บ และอยู่ในโรงพยาบาล ให้แพทย์แห่งโรงพยาบาลนั้นมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอหรือพนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย แล้วแต่กรณีด้วย

               มาตรา ๑๖๗๐  บุคคลต่อไปนี้จะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้
               (๑) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
               (๒) บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
               (๓) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง

               มาตรา ๑๖๗๑  เมื่อบุคคลใดนอกจากผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน
               ถ้าบุคคลนั้นเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพยานอื่น ๆ

               มาตรา ๑๖๗๒  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และต่างประเทศ มีอำนาจและหน้าที่เท่าที่เกี่ยวกับกระทรวงนั้น ๆ ที่จะออกกฎกระทรวง เพื่อให้การเป็นไปตามประมวลกฎหมายบรรพนี้ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น


               มาตรา ๑๖๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕
               มาตรา ๑๖๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๕
               มาตรา ๑๖๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๙