My Template

หมวด ๓ ผลและการตีความแห่งพินัยกรรม (มาตรา ๑๖๗๓ - ๑๖๘๕)

 

หมวด ๓
ผลและการตีความแห่งพินัยกรรม

-------------------------

               มาตรา ๑๖๗๓  สิทธิและหน้าที่ใด ๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรม ให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไป เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ภายหลัง

               มาตรา ๑๖๗๔  ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมมีเงื่อนไข และเงื่อนไขนั้นสำเร็จเสียก่อนเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นมีผลเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันไร้ผล
               ถ้าเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่เวลาเงื่อนไขสำเร็จ
               ถ้าเงื่อนไขบังคับหลังสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่เวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย แต่ตกเป็นอันไร้ผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ
               แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมว่า ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคก่อนนั้น ให้ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ก็ให้เป็นไปตามเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมนั้น

               มาตรา ๑๖๗๕  เมื่อพินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน ผู้รับประโยชน์ตามข้อความแห่งพินัยกรรมนั้นจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นจนกว่าจะถึงเวลาที่เงื่อนไขสำเร็จ หรือจนกว่าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขตกเป็นอันพ้นวิสัยก็ได้
               ถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะตั้งผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเสียเอง และเรียกให้ผู้ร้องนั้นวางประกันตามที่สมควรก็ได้

               มาตรา ๑๖๗๖  พินัยกรรมจะทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ หรือจะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรง เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๑๑๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ได้

               มาตรา ๑๖๗๗  เมื่อมีพินัยกรรมก่อตั้งมูลนิธิขึ้นตามมาตราก่อน ให้เป็นหน้าที่ของทายาทหรือผู้จัดการมรดก แล้วแต่กรณี ที่จะต้องร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
               ถ้าบุคคลดังกล่าวแล้วมิได้ร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานอัยการจะเป็นผู้ร้องขอก็ได้

               มาตรา ๑๖๗๘  เมื่อมูลนิธิใดซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมได้ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแล้ว ให้ถือว่าทรัพย์สินซึ่งผู้ทำพินัยกรรมจัดสรรไว้เพื่อการนั้น ตกเป็นของนิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผล เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๑๖๗๙  ถ้าจัดตั้งมูลนิธิขึ้นไม่ได้ตามวัตถุที่ประสงค์ ให้ทรัพย์สินตกทอดไปตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
               ถ้าพินัยกรรมไม่ได้ระบุไว้ เมื่อทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือพนักงานอัยการ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ ให้ศาลจัดสรรทรัพย์สินนั้นให้แก่นิติบุคคลอื่นซึ่งปรากฏว่ามีวัตถุที่ประสงค์ใกล้ชิดที่สุดกับความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม
               ถ้าหากว่าจัดสรรทรัพย์สินอย่างนี้ไม่ได้ก็ดี หรือว่ามูลนิธินั้นตั้งขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผล

               มาตรา ๑๖๘๐  เจ้าหนี้ของผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งก่อตั้งมูลนิธินั้นได้เพียงเท่าที่ตนต้องเสียประโยชน์เนื่องแต่การนั้น

               มาตรา ๑๖๘๑  ถ้าทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมนั้น ได้สูญหาย ทำลาย หรือบุบสลายไป และพฤติการณ์ทั้งนี้เป็นผลให้ได้ทรัพย์สินอื่นมาแทน หรือได้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนทรัพย์สินนั้น ผู้รับพินัยกรรมจะเรียกให้ส่งมอบของแทนซึ่งได้รับมานั้น หรือจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๖๘๒  เมื่อพินัยกรรมทำขึ้นเป็นการปลดหนี้หรือโอนสิทธิเรียกร้อง พินัยกรรมนั้นมีผลเพียงจำนวนซึ่งคงค้างชำระอยู่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
               ถ้ามีเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ปลดให้หรือสิทธิเรียกร้องที่โอนไปนั้น ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้รับพินัยกรรมและให้ใช้มาตรา ๓๐๓ ถึง ๓๑๓, ๓๔๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมจะต้องกระทำการหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรานั้น ๆ แล้ว บุคคลผู้ต้องจัดการตามพินัยกรรมหรือผู้รับพินัยกรรมจะกระทำการหรือดำเนินการนั้น ๆ แทนผู้ทำพินัยกรรมก็ได้

               มาตรา ๑๖๘๓  พินัยกรรมที่บุคคลทำให้แก่เจ้าหนี้คนใดของตนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มิได้ทำขึ้นเพื่อชำระหนี้อันค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนนั้น

               มาตรา ๑๖๘๔  เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด

               มาตรา ๑๖๘๕  ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดผู้รับพินัยกรรมไว้โดยคุณสมบัติที่ทราบตัวแน่นอนได้ ถ้ามีบุคคลหลายคนทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ดังนั้นได้ ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ถือว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับส่วนปันเท่า ๆ กัน


               มาตรา ๑๖๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕
               มาตรา ๑๖๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕