My Template

พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙

 

พระราชบัญญัติ
ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา
พ.ศ. ๒๔๙๙

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙
เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายอาญาเสียใหม่เพราะตั้งแต่ได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ในพุทธศักราช ๒๔๕๑ เป็นต้นมา พฤติการณ์ของบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ประมวลกฎหมายอาญาท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นไป

               มาตรา ๔  เมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ใช้บังคับแล้ว ให้ยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา

               มาตรา ๕  เมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ใช้บังคับแล้ว ในกรณีที่กฎหมายใดได้กำหนดโทษโดยอ้างถึงโทษฐานลหุโทษในกฎหมายลักษณะอาญาไว้ ให้ถือว่ากฎหมายนั้นได้อ้างถึงโทษดังต่อไปนี้
               ถ้าอ้างถึงโทษชั้น ๑ หมายความว่า ปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
               ถ้าอ้างถึงโทษชั้น ๒ หมายความว่า ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
               ถ้าอ้างถึงโทษชั้น ๓ หมายความว่า จำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าอ้างถึงโทษชั้น ๔ หมายความว่า จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๖  เมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ใช้บังคับแล้ว ในการจำคุกแทนค่าปรับตามกฎหมายใด ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะบัญญัติไว้ประการใด ให้นำประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ แต่สำหรับความผิดที่ได้กระทำก่อนวันที่ประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับ มิให้กักขังเกินกว่าหนึ่งปีสำหรับโทษปรับกระทงเดียว และสองปีสำหรับโทษปรับหลายกระทง

               มาตรา ๗  ในกรณีวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา ๔๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับเสมือนเป็นความผิดอาญา แต่ห้ามมิให้คุมขังชั้นสอบสวนเกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ถูกจับมาศาลรวมเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย

               มาตรา ๘  เมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ใช้บังคับแล้ว บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงกฎหมายลักษณะอาญา หรืออ้างถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญา ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงประมวลกฎหมายอาญา หรือบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน แล้วแต่กรณี

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
    จอมพล ป. พิบูลสงคราม
          นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ได้ประกาศใช้มานานแล้วและได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่หลายแห่งกระจัดกระจายกันอยู่ จึงเป็นการสมควรที่จะได้ชำระสะสาง และนำเข้ารูปเป็นประมวลกฎหมายอาญาเสียในฉบับเดียวกัน
                   อนึ่ง ปรากฏว่าหลักการบางอย่างและวิธีการลงโทษบางอย่างควรจะได้ปรับปรุงให้สมกับกาลสมัยและแนวนิยมของนานาประเทศ ในสมัยปัจจุบันหลักเดิมบางประการจึงล้าสมัย สมควรจะได้ปรับปรุงเสียให้สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๓/ตอนที่ ๙๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙